ภาวะช็อค คือ ภาวะที่เนื้อเยื่อของร่างกายมีการขาดออกซิเจน (Tissue hypoxia) สามารถแบ่งออกได้เป็น
- ภาวะช็อคจากการขาดสูญเสียสารน้ำหรือเลือด (Hypovolemic shock) เช่น การสูญเสียสารน้ำจาก การอาเจียน ถ่ายเหลว การสูญเสียเลือดจากการประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น
- ภาวะช็อคจากโรคหัวใจ (Cardiogenic shock) เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจทำงานล้มเหลวจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง เป็นต้น
- ภาวะช็อคจากการขยายตัวของหลอดเลือด (Distributive shock) ซึ่งมีผลทำให้หลอดเลือดสูญเสียการตึงตัว ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ลดลง ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น ภาวะช็อคจากพิษเหตุติดเชื้อ (Septic shock) ปฏิกิริยาการแพ้รุนแรงชนิด Anaphylaxis ภาวะความผิดปกติของระบบประสาท ความผิดปกติของโรคต่อมไร้ท่อบางชนิด
- ภาวะช็อคจากการอุดกั้น (Obstructive shock) ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุจากภายนอกหัวใจ ทำให้การบีบตัวของหัวใจล้มเหลว เช่น ภาวะลมรั่่วในเยื่อหุ้มปอด ภาวะบีบรัดหัวใจ จากของเหลวปริมาณมากอยู่ในถุงเยื่อหุ้มหัวใจ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด ภาวะความดันในหลอดเลือดแดงปอดสูง เป็นต้น
- ภาวะช็อคจากสาเหตุอื่นๆ
อาการของภาวะช็อค ขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะช็อค และอวัยวะที่เกิดผลกระทบจากภาวะช็อค โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการของภาวะความดันโลหิตที่ต่ำลง เช่น ซึมลง หมดสติ ตัวเย็น มือเท้าเย็น หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะออกน้อยลง หอบเหนื่อย เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการช็อคจากสาเหตุของการติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการผิดปกติบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะช็อค ได้แก่
- อาการทั่วไปของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ใจสั่น
- อาการเฉพาะที่ของแหล่งติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อที่ปอด มีอาการไข้ ไอ หอบ หรือ กรณีมีการติดเชื้อที่ระบบขับปัสสาวะ จะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่น ปวดบั้นเอว เป็นต้น
- อาการแสดงทางผิวหนัง ส่วนใหญ่จะพบเป็นตุ่มหนอง เป็นผื่นแดง เป็นตุ่มตามผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการกระจายเชื้อมาที่ผิวหนัง
- อาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ เช่น อาการแสดงของการทำงานล้มเหลมของอวัยวะต่างๆ เช่น ปัสสาวะออกน้อยลงจากไตเสื่อมฉับพลัน ซึมลง หรือสับสน เป็นต้น
การป้องกันตนเองจากภาวะช็อคจากพิษเหตุติดเชื้อ (Septic shock)
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- รับประทานอาหารสุก สะอาด ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ
- รักษาและควบคุมโรคประจำตัวให้ดี
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ป้องกันได้ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ เป็นต้น
- มาพบแพทย์เมื่อสงสัยภาวะติดเชื้อตั้งแต่ระยะแรกๆ เช่น เมื่อมีอาการไข้ เป็นต้น
พญ. กัญญวิสาข์ ตั้งกิจวณิชย์เจริญ
อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ