โรคลิ้นหัวใจ คือ โรคที่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจทำให้ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ (ลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว) ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ การทำงานของหัวใจผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้
โรคลิ้นหัวใจ พบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ พบทั้งในเพศชายและเพศหญิง สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจในเด็กแรกเกิดมักเป็นความพิการหรือความผิดปกติแต่กำเนิด ส่วนในวัยผู้ใหญ่มักเป็นโรคลิ้นหัวใจที่เกิดตามหลังไข้รูมาติก (Rheumatic fever and rheumatic heart disease) และในผู้สูงอายุมักเป็นจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจตามอายุ ส่วนสาเหตุอื่นๆที่พบได้ เช่น การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจรั่วจากกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติเป็นต้น หัวใจของคนเราทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ และเนื้อเยื่อทุกส่วนต่างๆในร่างกาย แบ่งเป็นซีกซ้ายและขวา แต่ละซีกจะแบ่งเป็นห้องบนล่าง
สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่วและลิ้นหัวใจตีบ
- เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิดที่ก่อให้เกิดไข้ ข้ออักเสบ เกิดผื่นตามตัว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เชื้อเข้าสู่หัวใจ ส่งผลทำให้ลิ้นหัวใจติดเชื้อ และเกิดอาการของลิ้นหัวใจอักเสบ และพองตัวหนา ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
- เกิดจากความผิดปกติที่มาแต่กำเนิดซึ่งอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัยขณะตั้งครรภ์หรืออาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม
- เกิดจากร่างกายได้รับหินปูนมาก ทำให้บางส่วนไปเกาะตามลิ้นหัวใจมากเกินปกติจนทำให้ลิ้นหัวไม่ทำงานหรือทำงานได้ไม่ตามปกติ
- เกิดจากการเสื่อมของลิ้นหัวใจตามอายุการทำงาน ซึ่งมักเกิดกับผู้มีอายุมากแล้ว ร่วมด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น การบวมโตของลิ้นหัวใจ และการมีหินปูนมาเกาะบริเวณลิ้นหัวใจ
อาการและภาวะโรคแทรกซ้อน
- ระยะเริ่มแรก จะมีอาการเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะขณะตั้งครรภ์หรือขณะที่มีเพศสัมพันธ์
- หากมีอาการรุนแรง มักจะรู้สึกเหนื่อยง่ายโดยที่อยู่เฉยๆ
- มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- มีอาการเจ็บและแน่นหน้าอก
- ไอเป็นเลือด สาเหตุจากปอดมีเลือดคั่งหรือเส้นเลือดในปอดแตก
- มีอาการเสียงแหบ เมื่ออาการของโรครุนแรงมากจากสาเหตุหัวใจห้องบนซ้ายโต และมีการกดทับเส้นประสาทเสียง
- อาจมีอาการอัมพาต ที่เกิดจากภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันในเส้นเลือดบริเวณสมอง
ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคลิ้นหัวใจมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
- ตรวจเช็คสุขภาพฟันหรือทำฟันให้เรียบร้อยก่อนเข้านอนโรงพยาบาล
- งดรับประทานยาต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ได้แก่ แอสไพริน (ASA)
- งดสูบบุหรี่และงดดื่มสุราก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรรับประทานอาหารเค็ม
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ต้องเข้านอนโรงพยาบาลก่อนผ่าตัด 1-2 วัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการผ่าตัดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
- สิ่งที่ท่านต้องเตรียมสำหรับการเข้านอนโรงพยาบาล เช่น ยาที่ผู้ป่วยรับประทานเป็นประจำ หนังสือส่งตัวเพื่อมารักษาต่อที่โรงพยาบาลต่างๆ บัตรประชาชนและบัตรประจำตัวผู้ป่วย ของใช้ส่วนตัว และเสื้อผ้า ที่สำคัญควรมีญาติที่สามารถติดต่อและดูแลท่านได้มาด้วย
การรักษา
- การรักษาด้วยยา ตามอาการ เช่น ยาควบคุมปัสสาวะ ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาขยายหลอดเลือด และยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
- การขยายลิ้นหัวใจ ซึ่งจะใช้ในกรณีลิ้นหัวใจตีบ
- การผ่าตัดโดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจหรือซ่อมแซมลิ้นหัวใจ ด้วยการผ่าตัดขยายรูของลิ้นหัวใจหากมีการตีบ การเย็บรูของลิ้นหัวใจที่มีการรั่ว รวมไปถึงการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมแทนลิ้นหัวใจ ที่ไม่สามารถใช้งานได้
อ้างอิงจาก สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและควบคุมโรค สำนักงานกองทุนการสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ