1. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบมักจะเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติ และเมื่อปวดในครั้งต่อไปกลับรู้สึกต้องการถ่ายปัสสาวะทันทีที่มีอาการปวด กลั้นไม่อยู่จนปัสสาวะเล็ดหรือราดออกมาบ่อยครั้ง
2. แสบ ขัดที่ปลายหลอดปัสสาวะ
หลังจากการปัสสาวะเสร็จมักมีอาการ แสบ ขัด เจ็บบริเวณปลายหลอดปัสสาวะ หรือรู้สึกปวดปัสสาวะแต่ไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้ตามปกติ เจ็บ ทรมาน
3. ปัสสาวะบ่อยแบบกะปริบกะปรอย
มีอาการถ่ายปัสสาวะแบบกะปริบกะปรอย ขับถ่ายต่อครั้งได้ปริมาณน้อย ปวดปัสสาวะบ่อยแทบทุกชั่วโมง และปัสสาวะไม่สุด
4. ปวดท้องน้อย
ขณะปัสสาวะจนสุดจะรู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย อาจปวดมากแบบบิดเกร็ง หรือปวดแบบหน่วงๆ ในบางครั้งอาจปวดเป็นระยะแล้วหายไป หรือบางครั้งอาจปวดเกร็งตลอดเวลาก็ได้เช่นกัน
5. ปัสสาวะมีสีขุ่น
ปัสสาวะมีสีเหลืองขุ่นไล่ระดับความเข้มขึ้นหากมีอาการมาก และอาจมีเลือดปนมาด้วยในรายที่มีอาการรุนแรง หรืออาจมีกลิ่นเหม็นและมีอาการไข้ร่วมด้วยได้
แนวทางการตรวจและการรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ
เมื่อมีอาการข้างต้นแสดงว่ากำลังเผชิญกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หลายคนอาจสงสัยว่าหากเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายเองได้ไหม เบื้องต้นเมื่อพบอาการแรกเริ่มของโรคแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับแบคทีเรียออกไปพร้อมปัสสาวะและควรพบแพทย์ เนื่องจากอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีความชัดเจน โดยแพทย์จะทำการซักประวัติการเจ็บป่วยและตรวจร่างกายพื้นฐาน จึงมักบอกได้อย่างชัดเจนแล้วว่าผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อดังกล่าวหรือไม่ แต่การตรวจปัสสาวะเพื่อหาสิ่งแปลกปลอมที่อาจเจือปน จำพวกเชื้อแบคทีเรียหรือเม็ดเลือดขาว แล้วจึงส่งเพาะเชื้อก็จะช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
แนวทางการรักษาทำได้โดยรับประทานยาปฏิชีวนะประมาณ 3-5 วัน ในผู้ป่วยที่มีอาการหนักเข้าขั้นรุนแรง หรือเรื้อรัง อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะนานประมาณ 7-10 วัน สำหรับผู้ที่เคยมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบแล้ว ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก และหากมีอาการมากกว่า 2 ครั้ง ภายในเวลาใน 6 เดือน แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น การส่องกล่องระบบทางเดินปัสสาวะ การถ่ายภาพรังสี หรืออัลตราซาวน์ เพื่อหาความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับการติดเชื้อ เช่น ภาวะนิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น