การผ่าตัดมดลูกเป็นหนึ่งในหัตถการทางนรีเวชที่พบบ่อย โดยการเลือกวิธีการผ่าตัดมดลูก (กรณีที่ไม่ใช่เนื้อร้าย) เช่น ภาวะเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ประจำเดือนมาผิดปกติ ฯลฯ จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ขนาดและรูปร่างของมดลูกและช่องคลอด ประสบการณ์ของศัลยแพทย์ และหัตถการร่วมอื่นๆ เช่น ผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ ร่วมด้วย ซึ่งการผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด และ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ถือว่าเป็นวิธีการผ่าตัดที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายน้อย เนื่องจาก ไม่จำเป็นต้องมีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่บริเวณหน้าท้อง ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว นอนโรงพยาบาลไม่นาน เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ดังนั้นการผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอดจึงเป็นที่นิยมในกรณีที่สามารถทำการผ่าตัดได้เพราะบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อของร่างกายน้อยที่สุด และได้ประโยชน์เรื่องความสวยงามด้วย เนื่องจากไม่มีแผลที่บริเวณหน้าท้อง ส่วนการผ่าตัดส่องกล้องก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม หากไม่สามารถผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอดได้ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเปิดหน้าท้องยังคงมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางราย
การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ ในการผ่าตัดมดลูก เพื่อประโยชน์สูงสุดและลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดของคนไข้ในแต่ละราย
ปัจจัยที่ต้องคำนึง | เปิดหน้าท้อง | ส่องกล้อง | ช่องคลอด |
---|---|---|---|
อาการปวดหลังผ่าตัด | ค่อนข้างมาก | น้อย | น้อย |
กลับไปใช้ชีวิตประจำวัน | 2-4 สัปดาห์ | 1-2 สัปดาห์ | 1-2 สัปดาห์ |
ระยะเวลานอนรพ. | 2-4 วัน | 1-2 วัน | 1-2 วัน |
ระยะเวลาในการผ่าตัด | 1-2 ชม. | 1-3 ชม. | 1-2 ชม. |
แผลหน้าท้อง | รอยแผลยาว | 3 รอยเล็ก ๆ | ไม่มี |
วิธีระงับความรู้สึก | ดมยา/บล็อกหลัง | ดมยา | บล็อกหลัง |
ข้อมูลจาก : นพ.อภิชาติ ใจดีเจริญ สูตินรีแพทย์