การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (MIS: Minimally Invasive Surgery) เป็นการผ่าตัดโดยการเจาะผ่านผิวหนังขนาดเล็กประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ใกล้บริเวณอวัยวะที่ต้องการผ่าตัดจำนวน 1-4 รู ซึ่งจะทำการสอดอุปกรณ์ผ่าตัด ไฟฉาย และกล้องขนาดเล็ก เข้าไปตรงช่องที่เจาะเป็นรูขนาดเล็ก เพื่อบันทึกภาพและส่งมายังจอมอนิเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่แทนตาของแพทย์และทีมผ่าตัดทำให้ผ่าตัดได้แม่นยำและเที่ยงตรง ทำให้การผ่าตัดไม่จำเป็นต้องเปิดแผลขนาดใหญ่ ส่งผลให้ไม่มีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของคนไข้ ช่วยลดความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดและลดความบาดเจ็บจากการผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น
ข้อดีของการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง
- แผลผ่าตัดขนาดเล็ก ส่งผลให้เกิดการเป็นแผลเป็นหลังผ่าตัดได้น้อยเนื่องจากแผลมีแค่รูเล็กๆขนาด 5-10 มิลลิเมตร จำนวน 1-4 รูเท่านั้น ถ้าเป็นการผ่าตัดแบบเปิด แผลจะมีขนาด 10-15 เซนติเมตร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเป็นแผลเป็นที่ขนาดใหญ่กว่าแผลแบบส่องกล้อง
- แผลมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแผลน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลกว้าง
- ลดภาวะแทรกซ้อนของการดมยาสลบและการสูญเสียเลือดขณะผ่าตัด
- ฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากเนื้อเยื่อได้รับความบาดเจ็บน้อยกว่า แผลผ่าตัดเล็ก เกิดพังผืดน้อย และลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น แผลผ่าตัดติดเชื้อ ทำให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้เร็ว กลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น
- ค่าใช้จ่ายในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลไม่สูงมาก เนื่องจากใช้เวลาพักฟื้นระยะสั้น
ข้อจำกัดของการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง
- ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ
- ผู้ป่วยในบางภาวะไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องได้ เช่นผู้ป่วยที่มีโรคปอดและหัวใจขั้นรุนแรง คนที่เคยผ่าตัดและมีพังผืดในท้องมากๆ
- แพทย์และทีมงานจะต้องที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการผ่าตัดด้วยกล้องโดยเฉพาะ
การผ่าตัดส่องกล้องรักษาอะไรได้บ้าง
การนำกล้องมาใช้ในการผ่าตัดสามารถใช้ในการวินิจฉัยโรค และการรักษา เนื่องจากการใช้กล้องจะทำให้เห็นอวัยวะภายในเชิงลึกได้อย่างเสมือนจริง เนื่องจากกล้องจะเป็นเทคโนโลยีภาพ 3 มิติ และขยายภาพได้ถึง 1,000 เท่า จึงสามารถทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ ซึ่งการรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้องมีดังนี้
- การผ่าตัดส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- การส่องกล้องหลอดลม
- การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช
- การผ่าตัดส่องกล้องกระดูกสันหลัง
- การผ่าตัดส่องกล้องทางเดินอาหารและกระเพาะอาหาร
- การผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบ หรือลำไส้อุดตัน
- การผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี
- การผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคไส้เลื่อน
- การผ่าตัดส่องกล้องตัดก้อนเนื้องอก
- การผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคทางศัลยกรรมทั่วไป
- การผ่าตัดส่องกล้องโรคทางออโธปิดิกส์ เช่น การผ่าตัดส่องกล้องบริเวณข้อ โดยข้อที่สามารถส่องกล้องได้ เช่น หัวเข่า ศอก ข้อมือข้อเท้า สะโพก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
คุณนภัสวรรณ
แผนกผู้ป่วยนอกศัลยกรรม
เบอร์ 092-580-0355