แพทย์จะแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำผ่าตัดได้ และ กลุ่มที่ทำผ่าตัดไม่ได้

สำหรับการรักษา มะเร็งตับอ่อน ที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งและอวัยวะข้างเคียงออก แต่หลายครั้งที่มักพบโรคในระยะลุกลาม จนไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยวิธิการรักษามะเร็งตับอ่อน ได้แก่

1. การผ่าตัด

  • Whipple procedure วิธีนี้เป็นวิธีผ่าตัดที่ใช้บ่อยที่สุด ซึ่งประกอบไปด้วยการผ่าตัดเพื่อเอาตับอ่อนออก ลำไส้เล็กส่วนต้น ถุงน้ำดี และแม้กระทั่งกระเพาะปัสสาวะบางส่วน
  • การผ่าตัดโดยวิธีบายพาส (Hepaticojejunostomy/gastrojejunostomy bypass) โดยการผ่าตัดโดยระบายน้ำดีออกบายพาสทางลำไส้เล็กหรือการผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหารไปลำไส้เล็ก เพื่อประคองอาการ ทำให้น้ำดีไหลสู่ระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากเซลล์มะเร็งลุกลามจึงต้องทำเส้นทางเบี่ยงของทางเดินน้ำดีและกระเพาะอาหาร ไม่ให้ถูกปิดกั้น

2. การรักษาด้วยยาในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

หากผู้ป่วยอยู่ในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว เราจะทำการรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด หรือจะให้การรักษาแบบตรงเป้าด้วยยามุ่งเป้าไปที่เซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ หรือบางคนอาจเลือกเป็นการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด

  • ยาเคมีบำบัด เป็นกลุ่มยาหลักที่ใช้ในการควบคุมมะเร็งตับอ่อนระยะแพร่กระจาย พบว่าการให้ยาเคมีบำบัดสามารถยืดระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ป่วย เมื่อเทียบกับการรักษาตามอาการเพียงอย่างเดียวเนื่องจากยาเคมีบำบัดที่มีข้อมูลในการรักษามะเร็งตับอ่อนระยะแพร่กระจายสามารถให้ได้หลายแบบ
  • ยามุ่งเป้า การใช้ยามุ่งเป้ามีความจำเป็นต้องตรวจการกลายพันธุ์ของยีนก่อนใช้ยาเสมอ หากไม่พบการกลายพันธุ์ของยีนที่เฉพาะเจาะจงกับยามุ่งเป้าชนิดนั้นๆจะไม่สามารถใช้ยามุ่งเป้าได้ ซึ่งยามุ่งเป้าที่มีข้อมูลในมะเร็งตับอ่อนระยะแพร่กระจาย ได้แก่
  • ยากลุ่ม NTRK Inhibitor จะพิจารณาใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนที่ชื่อว่า NTRX gene fusion จากชิ้นเนื้อของก้อนมะเร็ง ซึ่งอุบัติการณ์ในการตรวจพบในมะเร็งตับอ่อนถือว่าน้อยมาก คือน้อยกว่าร้อยละ 5
  • ยากลุ่ม PARP Inhibitor จะพิจารณาใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่ตรวจพบการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของยีนที่ชื่อว่าBRCA1/BRCA2 โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่าหลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดขนานแรกนาน 4-6 เดือน และสามารถควบคุมโรคได้

การให้ยากลุ่ม PARP Inhibitor สามารถช่วยยืดระยะเวลาการกำเริบของโรค

อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ในการตรวจพบการถ่ายทอดของยีนชนิดนี้ในมะเร็งตับอ่อนพบเพียงร้อยละ 4-7

ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยากลุ่มนี้ไม่สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนระยะแพร่กระจายทุกคน ก่อนใช้ยามีความจำเป็นต้องตรวจทางโมเลกุลเพิ่มเติม หากพบ MSI-high หรือ dMMR จึงจะสามารถใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดได้ อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ในการตรวจพบดังกล่าวในมะเร็งตับอ่อนถือว่าค่อนข้างน้อยคือประมาณร้อยละ 1-2