โดยปกติผู้ใหญ่ชาวเอเชีย อายุ 20 ปีขึ้นไป จะมีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ที่ 18.5 – 22.90 แต่ถ้าหากมีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 18.5 จะจัดอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือ ผอม โดยส่วนใหญ่ที่พบผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ มักจะพบอาการเจ็บป่วยและโรคเรื้อรังเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนที่มีดัชนีมวลกายปกติ แต่คนที่มีน้ำหนักน้อยหรือ คนผอม เมื่อตรวจร่างกายอาจเสี่ยงต่อโรคต่างๆ หลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงไขมันในเลือดสูง

 

สาเหตุที่ทำให้ผอม

  1.  เมตาบอลิซิมสูง สาเหตุของความผอม อาจเกิดจากมีระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกายสูง ทำให้ผอมได้
  2. พันธุกรรม เกิดขึ้นจากลักษณะทางกายภาพในครอบครัว ซึ่งในบางคนอาจจะมีดัชนีมวลกายต่ำตามพันธุกรรมโดยธรรมชาติ
  3. การออกกำลังกายที่หนักเกินไป ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก เป็นนักกีฬา หรือนักวิ่งมาราธอน
  4. มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ อาจส่งผลต่อความรู้สึกอยากรับประทานอาหาร อาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร หรือไม่รับประทานเลย จนทำให้มีน้ำหนักตัวที่ลดลงและผอมได้
  5. มีโรคประจำตัว โรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

โรคที่พบได้ในคนผอม 

  1. โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูงนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่เกี่ยวกับน้ำหนักตัว ไม่ว่าอ้วนหรือผอมก็สามารถตรวจพบโรคความดันโลหิตสูงได้ โรคความดันโลหิตสูง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจได้
  2. โรคไทรอยด์ ฮอร์โมนไทรอยด์นั้นมีหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญของสารอาหารในร่างกาย ผู้ที่ผอมหรือน้ำหนักตัวน้อยอาจเกิดจากการที่ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
  3. ไขมันในเลือดสูง คนที่น้ำหนักน้อยในกลุ่มที่มีพันธุกรรมที่รับประทานเท่าไรก็ไม่อ้วนนั้น อาจมีปัจจัยเสี่ยงเป็นไขมันในเลือดสูงได้ เนื่องจากร่างกายได้มีการกักเก็บไขมันไว้ในกระแสเลือด หรือบางคนอาจเป็นโรคไขมันในเลือดสูงที่เกิดจากพันธุกรรม
  4. มีความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำ ผู้ที่มีน้ำหนักน้อยมักมีความเสี่ยงของความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำ เป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนได้ ความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Mineral Density – BMD) มีค่าเป็น ที-สกอร์ (T-score) หากอยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 แสดงว่ามีภาวะกระดูกบาง แต่ถ้ามีค่าต่ำกว่า -2.5 แสดงว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

 

วิธีการผอมแบบปลอดโรค

  • การรับประทานอาหาร เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับตัวเอง ควรปรึกษาเพื่อรับคำแนะนำจากนักโภชนาการเพื่อการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับสุขภาพ
  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพเฉพาะบุคคล ควรมีการประเมินร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจและกีฬา
  • มีสุขภาพจิตที่ดี ผ่อนคลายอารมณ์ สร้างสุขภาพจิตที่ดี หากพบปัญหาด้านสุขภาพจิตควรพบแพทย์ เพื่อแก้ไขและดูแลสุขภาพจิตใจ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ หากมีปัญหาเรื่องการนอนหลับควรดูแลอย่างเหมาะสม และแก้ไขปัญหาเพื่อคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น