ชาปลายนิ้ว เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยนอก ชามีทั้งเป็นๆหายๆ ชาเฉพาะส่วน ชาต่อเนื่องลุกลามอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่อไปนี้เราจะแบ่งลักษณะชาตามลักษณะจำเพาะเพื่อความเข้าใจง่าย
ชาปลายนิ้วมือเฉพาะซีก ได้แก่ ชาเฉพาะนิ้วชี้และนิ้วกลาง หรือชาเฉพาะนิ้วนางกับนิ้วก้อย ซึ่งชาลักษณะนี้เป็นการชาตามระบบรับรู้ของเส้นประสาทส่วนปลาย ที่เจอได้บ่อยเป็นจากพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) ชาจะเป็นๆหายๆมักเป็นมากช่วงนอนหรือเช้าหลังตื่นนอน ทำให้ต้องตื่นมาสะบัดข้อมือบรรเทาอาการชา สาเหตุส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานใช้ข้อมือหมุน บิด เช่น กลุ่มอาชีพช่าง แม่บ้าน ถ้าเริ่มเป็นอาการไม่มาก การพักการใช้มือหลายคนก็จะดีขึ้น ถ้ายังไม่ดีขึ้นลำดับต่อไปอาจจำเป็นต้องฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงพังผืด หรือผ่าตัดแก้ไข สำหรับการผ่าตัดนั้นเป็นการผ่าตัดเล็ก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
ชาปลายนิ้วเท้าสองข้างแบบสมมาตร ต่อมาลามชาปลายนิ้ว อาจมีอ่อนแรงร่วมด้วย อันนี้มีสาเหตุได้หลากหลาย มีการดำเนินโรคกว้าง มีทั้งเร็วในสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปี มักที่เกี่ยวเนื่องมักสัมพันธ์กับโรคประจำตัวเดิมของผู้ป่วย ตัวอย่างโรคที่พบบ่อยดังนี้
- เบาหวาน ที่เป็นมานานๆหรือคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ผู้ป่วยจะชาที่ฝ่าเท้า นิ้วเท้า เดินรองเท้าหลุด หรือเหยียบของมีคมเป็นแผลไม่รู้ตัว ร่วมกับผู้ป่วยเบาหวานมักมีปัญหาหลอดเลือดส่วนปลายไหลเวียน เป็นเหตุให้เป็นแผลเรื้อรังรักษาหายยาก
- ปลายประสาทอักเสบหลังได้เคมีบำบัด ผู้ป่วยมักชาฝ่ามือฝ่าเท้าคล้ายสวมถุงมือถุงเท้า บางคนอาจมาในรูปแบบปวดแสบปวดร้อนเท้า เดินลำบาก พบบ่อยในสูตรยารักษามะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ อาการมักดีขึ้นหลังหยุดยา
- พร่องวิตามินบี มักเป็นผลพวงของการพร่องวิตามินบี 1 และ 12 เจอบ่อยในผู้ป่วยติดสุรา อาเจียนมาก มีภาวะทุพโภชนารุนแรง การผ่าตัดลดน้ำหนัก (bariatric surgery) แล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นมังสวิรัติที่เคร่งครัด ผู้ป่วยจะมีอาการชาร่วมกับอาการระบบอื่นร่วมด้วยได้เช่น พร่องวิตามินบี 1 อาจพบมีหัวใจวาย (wet beriberi) ความจำระยะสั้นบกพร่อง (Wernicke’s encephalopathy) กรณีพร่องวิตามินบี 12 ก็จะมีภาวะซีด (megaloblastic anemia) สมองเสื่อมได้
- โรคเอชไอวี พบได้ทั้งระยะแรกของการติดเชื้อ และระยะท้ายของโรค มีได้ทั้งในรูปแบบเฉียบพลันอย่างกลุ่มอาการกิลแลง บาร์เร (Guillain Barre syndrome) (กลุ่มโรคนี้เจอจากเหตุอื่นๆได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเอชไอวีเท่านั้น) ซึ่งผู้ป่วยจะชา ร่วมกับอ่อนแรง การดำเนินโรคเร็วเป็นสัปดาห์จนถึงสองเดือน อาการสามารถเป็นมากจนหายใจเหนื่อย กลืนลำบาก จากการอ่อนแรงลุกลามไปกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องการการกลืน การหายใจ ระยะท้ายของโรคเอชไอวี อาการชามักมีปวดแสบปวดร้อน เสียการสัมผัสรู้ตำแหน่งนิ้วเท้า มีอ่อนแรงได้เล็กน้อย การรักษาจะเน้นประคับประคองอาการเป็นหลัก ภายหลังรักษาเอชไอวีจนภูมิต้านทานดีขึ้นแล้ว อาการดังกล่าวส่วนใหญ่จะดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่พบได้บ่อย ซึ่งยังมีสาเหตุทำให้ชาปลายนิ้วแบบสมมาตรอีกมากที่ยังไม่ได้กล่าวในที่นี้ อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพที่ดี รักษาเบาหวานให้อยู่ในมาตรฐาน ดูแลภาวะโภชนาการให้สมบูรณ์ รักษาโรคที่ซ่อนเร้นก็จะป้องกันการเกิดการชานิ้วได้จำนวนหนึ่ง ให้เฝ้าระวังอาการชาปลายนิ้วแบบดำเนินโรคเร็ว โดยเฉพาะลุกลามจนมีอ่อนแรงภายในสองสัปดาห์ควรมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
โดย พญ. เนตรนภา หอมมณี อายุรแพทย์โรคระบบประสาทวิทยา