ตับ เป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนบนด้านขวา ทำหน้าที่ที่สำคัญหลายอย่าง เช่น

  • กำจัดสารพิษ
  • มีส่วนสำคัญใน metabolism ของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต  และไขมัน
  • สร้างน้ำดี ซึ่งมีความจำเป็นในกระบวนการย่อยอาหารของร่างกาย
  • เป็นที่เก็บสะสมของไกลโคเจน เกลือแร่ และวิตามิน (A, D, E, K)
  • สังเคราะห์โปรตีน เช่น albumin และปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด (Clotting factors)

ตับอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อยมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น จากการดื่มแอลกอฮอล์ ยาบางอย่าง สารพิษบางชนิด หรือแม้แต่การอักเสบที่เกิดจากภูมิคุ้มกันตัวเองไปทำลายตับ

 

อาการ

พบได้ตั้งแต่ไม่มีอาการอะไร แต่ทราบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพ แล้วผลการทำงานของตับผิดปกติ

ต่อมาเมื่อมีการอักเสบมากขึ้น ตับถูกทำลายจนเสียหน้าที่ จะเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด

ตัวเหลือง ตาเหลือง บางคนอาจมีไข้ต่ำๆ ปวดท้องใต้ชายโครงขวาร่วมด้วย

 

สาเหตุของตับอักเสบ จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ

  • ไวรัสตับอักเสบ A

มักมีอาการเฉียบพลัน อ่อนเพลีย มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง มักติดทางการกินอาหารที่ปนเปื้อน (Fecal oral route)

  • ไวรัสตับอักเสบ B

มักมีอาการเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งไม่แสดงอาการ ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รอยสัก เข็มฉีดยา การให้เลือด หรือแม่สู่ลูก คล้ายไวรัสตับอักเสบ C ซึ่งถ้าเรามีการคัดกรองแล้วทราบว่าผู้ป่วยรายใดเป็นพาหะ มีข้อบ่งชี้ในการกินยาต้านไวรัสตับอักเสบบี จะช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดตับแข็ง และมะเร็งตับในอนาคตได้

  • ไวรัสตับอักเสบ C

มักมีอาการเรื้อรัง หรือ แม้แต่ไม่แสดงอาการ รวมถึงการติดต่อก็เป็นช่องทางคล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ความสำคัญ คือ ในปัจจุบันนี้ มียารักษาไวรัสตัวใหม่ๆ ที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดผลแทรกซ้อน เช่น ตับแข็ง มะเร็งตับ เป็นอย่างมาก

  • ไวรัสตับอักเสบ E

มักมีอาการเฉียบพลัน อ่อนเพลีย มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง มักติดทางการกินอาหารที่ปนเปื้อน (Fecal oral route) คล้ายไวรัสตับอักเสบ A มักพบในประเทศที่สุขอนามัยไม่ดี

 

สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ของตับอักเสบ

  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • ยาบางชนิด เช่น พาราเซตามอลในขนาดสูงเกิน 10 g หรือมากกว่า 200 mg/kg ครั้งเดียว ทำให้ตับอักเสบได้ , ยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs, ยาลดไขมันกลุ่ม statins, ยากันชักบางชนิด, หรือแม้แต่อาหารเสริม ยาสมุนไพรบางตัว ก็มีรายงาน
  • ภาวะไขมันแทรกตับ
  • ตับขาดเลือดไปเลี้ยง (Ischemic hepatitis)
  • ตับอักเสบจากภูมิคุ้มกันตัวเอง (Autoimmune hepatitis)

 

การป้องกันตับอักเสบที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบ

  • จัดให้มีสุขอนามัยที่ดี หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด หรือ อาหารที่ปรุงไม่สุก ช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบ A, E ที่ติดเชื้อผ่านการกินได้
  • ไม่ใช้เข็ม มีดโกน แปรงสีฟัน ร่วมกับผู้อื่น, ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบ B, C ที่ติดเชื้อผ่านการสัมผัสเลือด หรือ สารคัดหลั่งได้
  • วัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน ไวรัสตับอักเสบ A และ B แล้ว สำหรับคนที่มีความเสี่ยง เช่น เดินทางไปในประเทศที่มีความชุกของโรคสูง หรือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่ง ควรได้รับวัคซีนป้องกัน

 

ตับอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ การตรวจคัดกรองควรทำในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือ ตรวจเช็คสุขภาพประจำปี จะช่วยทำให้เราทราบแต่เนิ่นๆ รวมทั้งหาสาเหตุต่างๆของตับอักเสบได้ เพื่อหาทางรักษา ป้องกัน มิให้เกิดผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น ตับแข็ง ตับทรุด มะเร็งตับ ตามมาได้

 

นพ. ธนชัย  ปัญจชัยพรพล
อายุรแพทย์ทางเดินอาหารและตับ  รพ.จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต