ตากุ้งยิงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด… โรคตากุ้งยิงไม่ใช่โรคติดต่อและสามารถรักษาให้หายขาดได้ ตากุ้งยิง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของต่อมไขมันหรือต่อมเหงื่อบริเวณเปลือกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยมีประวัติต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน
ดังนั้นการหมั่นรักษาความสะอาดย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อของแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตากุ้งยิง อย่างไรก็ตามหากท่านสงสัยว่ามีอาการเบื้องต้นของโรคตากุ้งยิง ควรรีบนัดหมายจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ ทั้งนี้เพื่อสุขภาพตาที่ดีของท่าน
ตากุ้งยิงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- ตากุ้งยิงชนิดหัวผุด (ภายนอก) มีหัวฝีผุดชัดเจนบริเวณขอบเปลือกตาด้านนอก มักจะมีขนาดใหญ่ และหัวฝีจะชี้ออกด้านนอก
- ตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน (ภายใน) มีตุ่มบวม หัวฝีเกิดขึ้นด้านในเปลือกตา หัวฝีจะชี้เข้าด้านใน
รู้ไหมตากุ้งยิงเกิดจากอะไร??
- สัมผัสดวงตาด้วยมือที่ไม่สะอาด
- การใส่คอนแทคเลนส์
- โรคเปลือกตาอักเสบ
- ใช้เครื่องสำอางที่ไม่สะอาดหรือล้างเครื่องสำอางไม่หมด
- เคยมีประวัติเป็นตากุ้งยิงมาก่อน
อาการของตากุ้งยิง
- เจ็บๆ คันๆ บริเวณเปลือกตา• ปวด บวม แดง บริเวณเปลือกตา• เป็นฝีหรือหัวหนอง 4 – 5 วัน
การรักษาตากุ้งยิง
ส่วนใหญ่ตากุ้งยิงมักหายเองได้ โดยอาจดูแลตนเอง ดังนี้
- ประคบอุ่นที่เปลือกตา 5-10 นาที วันละ 3-5 ครั้ง
- ล้างมือและล้างหน้าบ่อยๆให้สะอาด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสเปลือกตาส่วนที่เป็นตากุ้งยิง
- ไม่ควรบีบหรือกรีดระบายหนองเอง
หากไม่ดีขึ้นควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติมด้วยยาปฏิชีวนะ หรือการเจาะระบายหนองจากตากุ้งยิง
รักษาตากุ้งยิงโดยจักษุแพทย์
แพทย์จะทำการตรวจ วินิจฉัยและให้ยาสำหรับใช้ภายนอกเช่น ยาหยอดหรือยาป้าย แต่ถ้าในบางรายที่มีอาการติดเชื้อ มีหนองอยู่เป็นจำนวนมาก แพทย์อาจใช่ยาปฎิชีวนะร่วม และจะเจาะตุ่มหนองและขูดบริเวณหนองออก เพื่อเป็นการระบายหนองที่สะสมภายในเปลือกตาและทำการรักษาให้หายขาด
มีวิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดตากุ้งยิง ??
- หลีกเลี่ยงการการใช้มือที่ไม่สะอาดขยี้ตา
- หมั่นดูแลรักษาความสะอาดบริเวณรอบดวงตา ใบหน้าอย่างสม่ำเสมอ
- ล้างเครื่องสำอาง และคอนแทคเลนส์ให้สะอาดก่อนนำมาใส่ทุกครั้ง
- ทำความสะอาดเปลือกตาพร้อมประคบอุ่นและนวดเปลือกตากรณีมีภาวะต่อมไขมันอุดตันที่เปลือกตา