หลายคนคงมีประสบการณ์ คล้ายๆเช่น เดินห้างสรรพสินค้าอยู่ อยู่ดีๆรู้สึกวูบ เวียนหัว หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก อึดอัด บรรยายความรู้สึกไม่ถูก แต่รู้สึกเหมือนจะตายแล้ว เป็นมาหลายรอบ จนไม่กล้าออกจากบ้าน อาการแบบนี้เรียกว่า อาการตื่นตระหนก กะทันหัน ไปหาหมอแต่ละรอบเช็คร่างกายอย่างละเอียด วิ่งสายพาน ตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI brain) แล้วปกติ ตรวจย้ำหลายครั้งโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างโรงพยาบาลก็อยู่ในเกณฑ์ปกติเหมือนกัน

โรคแพนิค คือ กลุ่มอาการวิตกกังวลแบบฉับพลันรุนแรงเป็นครั้งคราว ผู้ป่วยจะเกิดความกลัว หรือไม่สบายใจอย่างรุนแรงร่วมกับมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติตั้งแต่ 4 อาการต่อไปนี้ ได้แก่

  1. ใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็ว เชื่อว่าหลายคนเคยใช้สมาร์ทวอท หรือนาฬิกาวัดอัตราการเต้นของหัวใจ จะพบว่าเมื่อรู้สึกหัวใจเต้นเร็วหรือแรงนั้น อัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ไม่เกิน 120 ครั้ง ต่อนาที
  2. เหงื่อแตก
  3. มือสั่นหรือตัวสั่น
  4. หอบ หายใจลำบาก หรือหายใจไม่ออก
  5. รู้สึกว่ามีก้อนขัดลำคอ
  6. เจ็บหรือแน่นหน้าอก อาการนี้อย่าวางใจกรณีผู้ป่วยมีความเสี่ยงทางระบบหลอดเลือดหัวใจเดิม เบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี ควรได้รับการตรวจแยกโรคหัวใจให้แน่ใจก่อนจะคิดถึงโรคแพนิค
  7. คลื่นไส้หรือไม่สบายท้อง
  8. เวียนหัว โคลงเคลง โหวงเหวง หน้ามืดหรือเป็นลม
  9. รู้สึกตัวเองแปลกไป เช่น รู้สึกแขนสองข้างไม่เท่ากัน ใบหน้าสองข้างไม่เหมือนกัน หรือรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมแปลกไป ไม่คุ้นเคย หรือเห็นวัตถุบิดเบี้ยวไป ห้องมีลักษณะแคบลงหรือกว้างเกินไป
  10. กลัวว่าควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวว่าจะเสียสติ
  11. กลัวตาย
  12. ชาตามตัว ผู้ป่วยมันชาปลายนิ้วมือหรือเท้าสองข้าง เป็นๆหายๆร่วมกับมีอาการอื่นๆในกลุ่มโรคนี้ร่วมด้วย ส่วนอาการชาที่เกิดจากปลายประสาทอักเสบ จะเป็นต่อเนื่องมักเริ่มที่ปลายเท้าสักระยะหนึ่ง เช่นเป็นหลายๆวัน หรือสัปดาห์ก่อนที่จะลามมานิ้วมือ
  13. รู้สึกหนาวสั่น หรือหนาวๆร้อนๆ

โดยอาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสูงสุดภายใน 10 นาที และจะคงอยู่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ยิ่งอาการแพนิคกำเริบซ้ำๆผู้ป่วยจะเดินความวิตกกังวลมากขึ้น อาการทางกายจะเป็นมากขึ้น และเมื่ออาการทางกายเป็นเยอะขึ้นก็จะกระตุ้นให้วิตกกังวลยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ป่วยบางคนกังวลกลัวจนไม่กล้าไปไหน กลายเป็นคนติดบ้าน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้

ตัวกระตุ้นที่แพนิคกำเริบได้บ่อย ได้แก่ การอดนอน ความเครียด ยาเสพย์ติด กาแฟ แอลกอฮอล์ ไทรอยด์เป็นพิษ อย่างไรก็ตามอาการสามารถกำเริบได้เองแม้ไม่มีตัวกระตุ้น ผู้ป่วยหลายคนพยายามแก้ไขสภาวะไม่สบายตัวด้วยการออกกำลังกาย หลายคนสามารถออกกำลังกายหนักได้ เช่น วิ่งต่อเนื่อง 21 กิโลเมตร (half marathon) ปั่นจักรยานต่อเนื่อง 42 กิโลเมตรโดยไม่มีอาการใดๆ ซึ่งเป็นจุดแตกต่างกับอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่มที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจ

การรักษา อาการตื่นตระหนก 

อันดับแรก คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค เพื่อลดความกลัว วิตกกังวล ว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วดับไปตามเวลา ไม่อันตรายถึงชีวิต สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้อีก หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นทางกาย เช่น กาแฟ อดนอน ยาเสพย์ติด แก้ไขภาวะทางกายที่ซ่อนเร้น เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เมื่อมีอาการกำเริบ พยายามพาตัวเองให้อยู่ในที่ที่สบายตัวที่สุด หายใจเข้าออกช้าๆ เบี่ยงเบนความสนใจ สำหรับยาที่รักษาโรคแพนิค จะเป็นกลุ่มยาต้านเศร้า เช่น ฟลูออกเซติน (fluoxetine) ยานอนหลับ เช่น อัลปราโซแลม (alprazolam), ลอร่าซีแพม (lorazepam)

โดย พญ. เนตรนภา หอมมณี อายุรแพทย์โรคระบบประสาทวิทยา