ต้อกระจก เป็นโรคที่เกิดจากการความเสื่อมของ “เลนส์ตา” ซึ่งปกติเลนส์ตาจะมีลักษณะใส ทำหน้าที่ช่วยในการรวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตา เมื่อเกิดต้อกระจก ทำให้เลนส์ตา “ขุ่น” แสงไม่สามารถเข้าไปในตาได้ตามปกติ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการตามัว พบบ่อยในผู้สูงอายุ
สาเหตุของโรค
ต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของโปรตีน ที่เป็นส่วนประกอบของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาขุ่น เป็นความเสื่อมตามวัย มักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่อาจพบผู้ป่วยอายุน้อยที่ใช้ยาสเตียรอยด์
อาการต้อกระจก
ตามัวลงอย่างช้า ๆ ไม่มีอาการปวด ภาพซ้อน สายตาพร่า มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะขณะขับรถในตอนกลางคืน มองเห็นสีต่าง ๆ ไปจากเดิม ต้องการแสงสว่างมากขึ้นในการมอง เมื่อต้อกระจกสุก อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคต้อหินเฉียบพลัน ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง ปล่อยไว้อาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
การรักษาต้อกระจก
ในปัจจุบันใช้การผ่าตัดเท่านั้น ยังไม่มียาหยอดตาหรือยารับประทานใด ๆ ที่รักษาต้อกระจกได้
การผ่าตัดต้อกระจก
- วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification with Intraocular Lens)
วิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน แผลที่กระจกตาเล็กกว่า 3 มม. โดยวิธีการสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปที่ตัวต้อกระจก ใช้พลังงานความถี่สูงเท่าระดับอัลตราซาวนด์เข้าสลายต้อกระจกจนหมดจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ ไม่ต้องเย็บแผล - วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens)
วิธีผ่าตัดดั้งเดิมที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมาก ๆ จนไม่เหมาะกับการสลายด้วยเครื่อง จักษุแพทย์จะเปิดแผลบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มม.เพื่อเอาตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่แล้วจึง เย็บปิดแผลด้วยไหม
โดย นพ. สมบูรณ์ ปัญญากรณ์ – จักษุแพทย์