ภาวะตัวเตี้ยที่ผิดปกติหรือ short stature คือภาวะที่ส่วนสูงที่วัดได้มีค่าน้อยกว่าค่าปกติของเพศและอายุนั้น ๆ  โดยผู้ปกครองสามารถดูได้ง่าย ๆ จากการเปรียบเทียบความสูงกับอายุตามเพศ ของกราฟของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเด็กสูงต่ำกว่าค่ามาตรฐาน 2 S.D. จัดว่าตัวเตี้ย

 

สาเหตุ

  • ตัวเตี้ยแบบปกติ กลุ่มนี้จะมีสุขภาพแข็งแรงดี สาเหตุมักเกิดจากหนึ่งพันธุกรรมคือพ่อแม่เป็นคนตัวเตี้ย หรือสองส่วนสูงมาแบบม้าตีนปลาย เด็กกลุ่มที่สองมีพ่อแม่ที่สูงตามปกติ แต่มักมีประวัติว่าบิดาหรือมารดาเป็นหนุ่มสาวช้ากว่าปกติ เช่น มารดาเป็นประจำเดือนครั้งแรกช้า หรือบิดาเมื่อเป็นเด็กตัวเล็กว่าเพื่อนๆ มาเริ่มโตเร็วเมื่อเรียนชั้นมัธยมปลาย และมีความสูงสุดท้ายปกติ
  • ตัวเตี้ยที่ตรวจพบพยาธิสภาพ คือเป็นโรคเตี้ย ไม่เพียงมีปัญหาตัวเตี้ยอย่างเดียว จะการเจริญเติบโตช้าด้วยเมื่อพิจารณาเทียบในเส้นกราฟการเจริญเติบโต พบว่าแทนที่ความสูงจะขนานกับเส้นปรกติแต่กลับเบี่ยงเบนออกมาเรื่อยๆ พูดง่ายๆ คืออัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าปรกติ (น้อยกว่า5 เซนติเมตร/ปี)

สาเหตุของโรคเตี้ย บางรายมีสาเหตุเดียว เช่น ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต ฮอร์โมนไทรอยด์ ภาวะคอร์ติซอลเกิน หรือเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น Turner syndrome, Down’s syndromeบางรายอาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน เช่นพันธุกรรม ขาดสารอาหาร(เตี้ยผอม) ฮอร์โมน สุขภาพกายใจ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นิยามของคำว่าเตี้ย

สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ให้ใช้กราฟของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขในการวัด และใช้เกณฑ์ปกติการเจริญเติบโตร่วมด้วย กล่าวคือ

  • เด็กแรกเกิดถึง 1 ปี ประมาณ 25 cm/ปี
  • เด็กอายุ 1-2 ปี ประมาณ 12 cm/ปี
  • เด็กอายุ 2-3 ปี ประมาณ 8 cm/ปี
  • เด็กอายุ 3 ปี – ก่อนวัยหนุ่มสาว ประมาณ 4-7 cm/ปี
  • วัยหนุ่มสาวเพศหญิง ประมาณ 7 cm/ปี
  • วัยหนุ่มสาวของเพศชาย ประมาณ 8 cm/ปี

ถ้าความสูงต่ำกว่ามาตรฐานดังกล่าว แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์

 

การรักษาเด็กตัวเตี้ยแบบผิดปกติ มุ่งเน้นไปที่การแก้สาเหตุ เช่นเด็กที่ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต Turner syndrome หรือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คือการให้growth hormone

 

ส่วนในเด็กที่ตัวเตี้ยแบบปกติ การได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การพักผ่อนที่เพียงพอ และการเลี้ยงดูอย่างอบอุ่น ก็ทำให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง เติบโตสมวัยได้ค่ะ

 

พญ.พัชรินทร์  มีศักดิ์

กุมารแพทย์  โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต