ท้องผูก เป็นอาการหนึ่งที่พบบ่อยมาก เกือบทุกคนมักเคยมีอาการท้องผูกในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ส่งผลให้รบกวนชีวิตประจำวัน และคุณภาพชีวิต เป็นปัญหาที่พบบ่อยที่คนไข้มักมาปรึกษาแพทย์
อาการท้องผูก หมายถึง การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือ อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง หรือ เม็ดกระสุน นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการถ่ายลำบาก ที่ต้องใช้การเบ่งช่วย ใช้น้ำฉีด ใช้นิ้วล้วงช่วย รู้สึกว่าถ่ายไม่สุด อึดอัดแน่นท้อง เจ็บปวดระหว่างถ่าย หรือถ่ายมีเลือดปน ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าคุณมีอาการท้องผูก
ปัจจัยเสี่ยงของท้องผูก
- ท้องผูก มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะตอนตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย และขณะตั้งครรภ์ ทารกจะกดเบียดลำไส้ ทำให้ขัดขวางการเคลื่อนตัวของอุจจาระ
- ผู้สูงอายุ เนื่องจาก แนวโน้มการเคลื่อนไหว การเผาผลาญของร่างกายลดลง และการบีบตัวของกล้ามเนื้อในทางเดินอาหารน้อยกว่าวัยผู้ใหญ่
- ทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย เพราะกากใยช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
- ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- ความเครียด
- ดื่มนม หรือกิน cheese ปริมาณมาก
- กลั้นอุจจาระ เวลาปวดท้องถ่ายตอนเช้า
สาเหตุของท้องผูก
ท้องผูกที่มีสาเหตุอื่น นอกจากการทำงานผิดปกติของลำไส้ (Secondary Constipation) เช่น
- จากทางเดินอาหาร มีการอุดตันจากเนื้องอกในลำไส้ หรือเนื้องอกอวัยวะอื่นมากดเบียดทับ พังผืดในช่องท้อง ลำไส้กลืนกัน
- จากฮอร์โมนผิดปกติ เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ทำงานต่ำ
- เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ เช่น โพแทสเซียมในเลือดต่ำ แคลเซียมในเลือดสูง
- การตั้งครรภ์
- ยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาแก้ปวดกลุ่ม opioids หรือ NSAIDs, ยารักษาจิตเวช (TCA, SSRIs) ยาลดกรด แคลเซียม ธาตุเหล็ก ยาแก้ไอ
- โรคทางระบบประสาท เช่น ภาวะการบาดเจ็บของกระดูกและไขสันหลัง พาร์กินสัน เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก ผู้ป่วยนอนติดเตียง
ท้องผูกที่มีสาเหตุจาก ความผิดปกติของการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย (Primary Constipation) เช่น
- ท้องผูกชนิดที่มีการเคลื่อนไหวตัวของลำไส้ปกติ หรืออาจจะเรียกกลุ่มนี้ว่า ลำไส้แปรปรวนชนิดท้องผูก พบบ่อยที่สุด
- ความผิดปกติของหูรูดทวาร
- ลำไส้เคลื่อนตัวช้าผิดปกติ
วิธีการรักษา
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ทานอาหารที่มีกากใยสูง ผัก ผลไม้ เช่น ลูกพรุน ส้ม กล้วย มะละกอ
- ดื่มน้ำเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เนื่องจาก การเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้นด้วย
- เวลาปวดท้องถ่ายตอนเช้า พยายามเข้าห้องน้ำให้เป็นนิสัย เพราะสัญญาณกระตุ้นการถ่ายจากสมอง มักมาตอนเช้า ไม่ควรกลั้นอุจจาระไว้จนหายปวด จะทำให้ถ่ายไม่ออกและเกิดอาการท้องผูก
- ยาระบาย
- ยาระบายที่ออกฤทธิ์โดยการเพิ่มปริมาณอุจจาระ (Bulk-forming laxatives) เช่น Mucillin
- ยาที่ออกฤทธิ์โดยการดูดซึมน้ำกลับเข้ามาในลำไส้ (Osmotic laxatives) ทำให้อุจจาระนิ่มและถ่ายง่ายขึ้น เช่น lactulose, Milk of Magnesia (MOM)
- ยาที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (stimulant laxatives) เช่น มะขามแขก, bisacodyl
- ยากลุ่มอื่นๆ เช่น ยาสวน หรือ ยากระตุ้นการทำงานของลำไส้ (Prokinetic drugs)
หากคุณอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีสัญญาณเตือนอื่นๆ นอกเหนือจากท้องผูก เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด ลำอุจจาระเล็กลง คลำเจอก้อนในช่องท้อง น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ หรือมีภาวะซีด แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมโดย การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เพื่อให้แน่ใจว่าอาการท้องผูกนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ที่รุนแรง เช่น การอุดตันในลำไส้ หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่
นพ. ธนชัย ปัญจชัยพรพล
อายุรแพทย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต