การนอนเป็นกิจกรรมที่สำคัญมากต่อร่างกาย เพราะนอกจากจะเป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อน การนอนยังเป็นช่วงเวลาจำเป็นในการซ่อมแซมร่างกายที่เราใช้งานมาทั้งวัน เราจึงควรนอนหลับให้เพียงพอ จากการศึกษาโดย National Sleep foundation พบว่าจำนวนชั่วโมงการนอนที่เพียงพอในผู้ใหญ่ช่วงอายุ 26-64 ปี ควรนอน 7-9 ชั่วโมง และในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปควรนอน 7-8 ชั่วโมงและการ นอนน้อย กว่า 7 ชั่วโมง จะส่งผลต่อสุขภาพของเราทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
ผลของการนอนน้อยระยะสั้น
- รู้สึกง่วงหงาวหาวนอนในระหว่างวัน แน่นอนว่าเราจะรู้สึกง่วงนอนในระหว่างวัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
- จำอะไรไม่ค่อยได้ นึกอะไรไม่ค่อยออก เพราะการนอนเพียงพอจะช่วยให้สมองมีเวลาจัดเรียงข้อมูลให้เป็นระเบียบส่งผลต่อความจำที่ดี
- เครียดง่าย หงุดหงิดง่าย ทำให้อาจมีปัญหาต่อคนรอบข้างได้ง่ายขึ้น
- การตัดสินใจแย่ลง ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถมากขึ้นได้
ผลของการนอนน้อยระยะยาว
- ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ดังนั้นหากอดนอนเรื้อรังจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้
- เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เนื่องจากความเครียดที่เกิดจากการนอนน้อยส่งผลให้ร่างกายต้องผลิตน้ำตาลออกมาในกระแสเลือดมากขึ้น และการนอนน้อยยังกระตุ้นให้ร่างกายต้องการกินของหวานมากกว่าปกติ
- เสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันเพิ่มขึ้น
- ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการอดนอนจะไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน Ghrelin ที่ทำให้เราหิว
- เกิดความเครียดสะสม นำไปสู่ภาวะเหนื่อยเพลียเรื้อรังได้
- ความต้องการทางเพศลดลง การอดนอนเรื้อรังทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศลดลง ส่งผลให้ความต้องการทางเพศของเราลดลงตามไปด้วย
ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการนอนหลับให้เพียงพอ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว