ปัญหานอนไม่หลับ เชื่อว่าเป็นปัญหาทุกข์ใจโดยเฉพาะคนวัยทำงาน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สมาธิการทำงานในวันรุ่งขึ้น สาเหตุการของการ นอนไม่หลับ โดยคร่าวๆแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ดังนี้
- โรคทางกาย โรคที่รบกวนสุขสบายของการนอน ตัวอย่างโรคที่พบบ่อยได้แก่ อาการปวดข้อจากโรครูมาตอยด์ ปัญหาปัสสาวะบ่อยในผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต โรคเบาหวาน ภาวะการอุดกั้นทางเดินหายใจในผู้ป่วยโรคอ้วน ซึ่งผู้ป่วยจะนอนกรนจากทางเดินหายใจตีบแคบและหยุดหายใจเป็นพักๆ หลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ โรคไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยจะมีภาวะตื่นตระหนกง่าย หลับยาก
- โรคทางจิตใจ ที่พบได้บ่อย คือโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล ซึ่งสามารถมีผลได้ทั้งเริ่มต้นหลับยาก และหลับๆตื่นๆ หรือตื่นกลางดึก ซึ่งนอกเหนื่ออาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น สมาธิไม่ดี ความจำไม่ดี หงุดหงิดง่ายอันเป็นผลจากปัญหานอนไม่หลับแล้ว ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีความรู้สึกเศร้า ท้อแท้ ไร้ค่าร่วมด้วย ขณะเดียวกันเมื่อนอนไม่หลับต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ผู้ป่วยจะพะวงภาวะนอนไม่หลับตนเอง ทำให้หลับยากไปยิ่งขึ้น
- แอลกอฮอล์ และสารเสพติด เช่น ยาบ้า สำหรับแอลกอฮอล์ ทำให้หลับง่าย แต่หลับไม่สนิท ตื่นบ่อย เมื่อติดสุรา ผู้ป่วยจะนอนไม่หลับถ้าไม่ได้ดื่ม และในการรักษาภาวะพิษสุราเรื้อรังผู้ป่วยหลายคนจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับต่อเนื่องระยะยาวแม้หลังเลิกสุราไปแล้ว
- วงจรการนอนเปลี่ยนไป ( circadian rhythm sleep wake disorder ) เป็นภาวะวงจรการหลับตื่นตามธรรมชาติเปลี่ยนไป อาจด้วยลักษณะเฉพาะของคนๆนั้น หรือด้วยอายุ ภาวะบกพร่องของสมอง หรือจากข้อจำกัดของชีวิตประจำวันที่ไม่สามารถนอนได้ตามวงจรธรรมชาติที่ควรเป็น ได้แก่
- วงจรง่วงช้า ( delayed sleep phase type ) ผู้ป่วยง่วงช้ากว่าทั่วไป ทำให้หลับยาก แต่ถ้าหลับแล้วจะหลับสนิท ถ้าได้ตื่นสายจะรู้สึกสดชื่น
- วงจรง่วงเร็ว ( advanced sleep phase type ) ผู้ป่วยง่วงเร็ว ถ้าไม่ได้นอนเร็วตามช่วงเวลานั้น จะรู้สึกเหมือนนอนน้อย
- นอนสั้นกระจัดกระจาย ( irregular sleep wake type ) พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่มีปัญหาสมองเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยจะนอนเป็นช่วงสั้นๆทั้งวัน คนดูแลอาจต้องกระตุ้นให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะตื่นมากขึ้นช่วงกลางวัน เพื่อการนอนกลางคืนที่นานขึ้น
- นอนไม่ตามวงจรปกติ จากการทำงาน ( shift work type) พบบ่อยในอาชีพที่ต้องทำงานเข้ากะ ผลัดเวร แม้นอนในตอนกลางวันได้ แต่มักไ่ม่สนิท และสั้นกว่ากลางคืน
- สุขลักษณะการนอนทำให้หลับยาก เช่น การดื่มกาแฟ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน หรืองีบหลับกลางวันนานๆโดยเฉพาะช่วงบ่ายและเย็น การกินอาหารมื้อเย็นหนักๆ การออกกำลังกายหนักๆตอนเย็นๆก็เช่นกัน ทำให้หลับยากการทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นตัว หรือสร้างความวิตกกังวลก่อนนอน เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ การสนทนาเรื่องที่ทำให้ต้องครุ่นคิดกังวลก็ควรหลีกเลี่ยง
คำแนะนำเรื่องสุขลักษณะการนอน
- เข้านอนเมื่อรู้สึกง่วงเท่านั้น ถ้ายังไม่ง่วงอย่าเพิ่งเข้านอน
- ถ้าเข้านอนแล้ว 30 นาที ยังนอนไม่หลับให้ลุกจากที่นอน
- ไม่ควรอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ เล่นเกม ทำงานในห้องนอน
- พยายามเข้านอนและตื่นเป็นเวลา
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมคาแฟอีน หลังบ่ายสองโมง
- หลีกเลี่ยงการงีบหลับหลังบ่ายสองโมง
- ไม่ออกกำลังกายหักโหมก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อหนัก ปริมาณมากๆก่อนนอน
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ก่อนนอน
- จัดห้องนอนให้มีบรรยากาศเหมาะสม สะอาด สงบ อุณภูมิสบายตัว