อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
จะประกอบด้วยอาการสำคัญ 3 อาการคือ เวียนศีรษะ (vertigo) มีเสียงดังในหู (tinnitus) และการได้ยินลดลง (hearing loss) ซึ่งแตกต่างจากการเวียนหัวธรรมดาที่จะมีเพียงอาการเวียนหัวเพียงอาการเดียวเท่านั้น
ลักษณะการเวียนศีรษะ คือ มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ส่วนใหญ่ไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่บางครั้งอาจมีอาการนานเป็นชั่วโมงได้ อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่รบกวนผู้ป่วยมากที่สุด ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ต้องนอนพัก
ลักษณะการได้ยินที่ลดลงของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันนั้น มีอาการหูอื้อ ได้ยินไม่ชัด รู้สึกแน่นในหูเป็นๆหายๆ บางครั้งการได้ยินดีขึ้น บางครั้งการได้ยินเลวลง ในระยะแรกเริ่มมักมีการเสียของประสาทหูที่ความถี่ต่ำก่อน แต่ในระยะยาวแล้วระดับการได้ยินจะแย่ลงเรื่อย ๆ อาจถึงขั้นหูหนวกได้ ในระยะแรกอาจมีอาการที่หูข้างเดียว ในระยะหลังอาจมีอาการที่หูทั้งสองข้าง มีอาการปวดหู หรือปวดศีรษะข้างที่เป็นด้วยได้
การรักษา
ประกอบด้วย การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเวลาเวียนศีรษะ การให้ยาบรรเทาอาการ
- การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเวลาเวียนศีรษะ
- เมื่อมีอาการเวียนศีรษะขณะเดิน ควรหยุดเดินและนั่งพัก เพราะการฝืนเดินขณะเวียนศีรษะ อาจทำให้ผู้ป่วยล้ม เกิดอุบัติเหตุได้ เช่นกัน ถ้าอาการเวียนศีรษะเกิดขณะขับรถ หรือขณะทำงาน ควรหยุดรถข้างทาง หรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าเวียนศีรษะมากควรนอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น พื้น และผู้ป่วยควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว
- รับประทานยาที่แพทย์ให้รับประทานเวลาเวียนศีรษะ
- พยายามอย่ารับประทานหรือดื่มมากนัก จะได้มีโอกาสอาเจียนน้อยลง
- หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยทางเรือ เพราะจะทำให้มีอาการเวียนศีรษะมากขึ้นได้
- ถ้าอาการเวียนศีรษะน้อยลง ค่อย ๆ ลุกขึ้น แต่อาจรู้สึกง่วงหรือเพลียได้ แนะนำให้นอนหลับพักผ่อน ถ้าง่วงหลังตื่นนอน อาการมักจะดีขึ้น
- การให้ยาบรรเทาอาการ และรักษา
- ควรจำกัดความเค็ม เพราะความเค็มหรือเกลือโซเดียมที่มีปริมาณมากขึ้นในร่างกาย จะทำให้มีน้ำคั่งในร่างกาย และในหูชั้นในมากขึ้น อาจทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลงได้
- ให้ยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้ อาเจียน
- การรับประทานยาขยายหลอดเลือด(ฮิสตะมีน) จะช่วยให้การไหลเวียนของน้ำในหูดีขึ้น
- ถ้าผู้ป่วยหายเวียนศีรษะแล้ว ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน
- หลีกเลี่ยงสารคาเฟอีน (ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม และกาแฟ) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และความเครียด ซึ่งจะทำให้อาการของผู้ป่วยโรคนี้แย่ลง เนื่องจากจะไปลดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน