ผ่าตัดไส้เลื่อนด้วยการส่องกล้อง

ไส้เลื่อนคือภาวะที่ลำไส้เล็กมีการดันตัวหรือเคลื่อนตัว ทำให้สำไส้เล็ก หรือไขมัน และเยื้อบุช่องท้องไหลเลื่อนออกมาสู่บริเวณด้านข้างหัวหน่าวหรือถุงอัณฑะ ไส้เลื่อนที่พบบ่อยคือไส้เลื่อนขาหนีบซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่กำเนิด พบบ่อยในเพศชายโดยมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขณะที่ทารกเพศชายอยู่ในครรภ์ ช่องทางลงของอัณฑะของทารกไม่ปิดหลังจากอัณฑะเคลื่อนลงมาที่ถุงอัณฑะแล้ว การอ่อนแอของผนังหน้าท้อง การออกแรงมากๆ และซ้ำๆ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การไอเรื้อรัง ภาวะอ้วน ภาวะที่ทำให้มีการเบ่งลมอยู่บ่อยๆ เช่น ท้องผูก ต่อมลูกหมากโต โรคที่มีความผิดปกติของคอลลาเจน ส่วนไส้เลื่อนบริเวณสะดือหรือบริเวณต่ำกว่าขาหนีบจะพบได้ในผู้หญิงเท่านั้น ทั้งนี้ไส้เลื่อนยังเกิดได้ในบริเวณอื่นๆ แต่ก็พบน้อยมาก

ไส้เลื่อนเกิดจากอะไรได้บ้าง?

ความบกพร่องของการยึดเกาะภายในผนังช่องท้อง มีความดันเพิ่มขึ้นในช่องท้อง มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อในช่องท้อง การตั้งครรภ์ หรือความอ้วน การไอ จาม และยกของหนัก ที่ทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้น การเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นประจำ

62-banner-mis-03

อาการใดบ้างที่บอกว่าเป็นไส้เลื่อนขาหนีบ

  • ไส้เลื่อนขาหนีบอาจมีแค่การพบก้อนโป่งนูนบริเวณด้านข้างหัวหน่าวหรือถุงอัณฑะ โดยไม่มีอาการอื่นเลย หรืออาจมีอาการปวดตึงเล็กน้อย
  • ผู้ป่วยเองมักสังเกตได้เองว่ามีก้อนบริเวณขาหนีบในตอนยืน เดิน ยกของ ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา และก้อนอาจจะยุบหายไปตอนนอนราบ ลักษณะนี้มักสามารถใช้มือดันเข้าไปได้
  • หากมีอาการปวดมาก ก้อนไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ มีอาเจียน ไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ผายลม อาจเกิดจากภาวะลำไส้อุดตันจากไส้เลื่อนที่ไม่สามารถดันกลับได้ (incarcerated hernia)
  • อาจนำไปสู่ภาวะลำไส้ขาดเลือด (strangulation) จนจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน

การตรวจวินิจฉัยไส้เลื่อน

แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยมักเริ่มต้นด้วยท่ายืน อาจจำเป็นต้องสอดนิ้วเข้าไปในช่องไส้เลื่อน (inguinal canal) บริเวณเหนือถุงอัณฑะ แล้วให้ผู้ป่วยเบ่งช่องท้อง หรือไอ และจำเป็นต้องตรวจทั้งสองข้าง ถ้าตรวจด้วยวิธีนี้แล้วพบว่าเป็นไส้เลื่อนขาหนีบก็สามารถให้การรักษาได้เลย แต่หากยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน โดยเฉพาะในคนอ้วนหรือคนที่เคยผ่าตัดไส้เลื่อนมาแล้ว ก็จำเป็นต้องตรวจเพิ่ม เช่น การทำอัลตร้าซาวด์ (ultrasonography) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเข้าเครื่องตรวจแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

ทางเลือกในการรักษาไส้เลื่อน

  • การรักษาไส้เลื่อนก็เพื่อนำลำไส้กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม และเย็บปิดรูหรือเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหรือพังผืดที่อ่อนแอลง
  • การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะของไส้เลื่อนติดคา ทำได้โดยให้ผู้ป่วยนอนราบ รับยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด และยานอนหลับ แพทย์จะใช้นิ้วมือดันลำไส้ให้กลับคืนสู่ตำแหนงเดิม
  • กรณีที่ผู้ป่วยไส้เลื่อนมีภาวะลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยง ต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดเอาถุงไส้เลื่อนออกแล้วเย็บซ่อมแซมผนังด้านหลัง หรือการผ่าตัดซ่อมแซมไส้เลื่อน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ลำไส้ขาดเลือดจนเน่าตายได้

การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาไส้เลื่อนที่เห็นผลที่สุด

การรักษาไส้เลื่อนขาหนีบด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง

การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Technique) การผ่าตัดส่องกล้องทำได้ 2 วิธี คือ

การผ่าตัดผ่านชั้นก่อนเข้าช่องท้อง และการผ่าตัดเข้าช่องท้อง ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กๆ ขนาดประมาณ 1.5 ซม. หนึ่งแผล และ 0.5 ซม. สองแผล แพทย์จะดึงถุงไส้เลื่อนกลับเข้ามาในช่องท้อง วางแผ่นสังเคราะห์ปิด โดยยึดไว้ด้วยหมุดโลหะ การผ่าตัดผ่านกล้องมักต้องใช้การดมยาสลบเช่นกัน

ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้อง

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดออกมาก หรือเกิดการอักเสบรุนแรงจนไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปได้ก็จะใช้การผ่าตัดแบบเปิด โดยปกติแล้วแพทย์จะทำการรักษาตามความเหมาะสมของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งการผ่าตัดแบบส่องกล้องจะมีข้อดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิดดังนี้

  • รอยแผลเล็ก
  • รบกวนเนื้อเยื่อน้อยกว่า ลดโอกาสการเกิดพังผืดในช่องท้อง
  • การปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า
  • ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
  • ลดอัตราการเป็นซ้ำ
  • ซ่อมไส้เลื่อนขาหนีบได้ทุกชนิดในข้างเดียวกันในการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว
  • พักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ซึ่งในบางคนสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังฟื้นตัว
  • ภายใน 1 สัปดาห์ก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ และหากไม่มีอาการเจ็บแผลอีกภายใน 2-4 สัปดาห์ ก็ออกกำลังกายหนัก หรือเล่นกีฬาได้เลย