นอนกรน
หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้น
เสียงกรน คือ เสียงการสั่นพลิ้วสะบัดของลิ้นไก่เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนและช่องคอส่วนบน เมื่อมีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน ในคนวัยกลางคน (30-60 ปี) พบภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจได้ประมาณ 4% ในผู้ชายและ 2% ในผู้หญิง
การนอนกรนแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
- การนอนกรนธรรมดา ซึ่งทำให้เกิดเสียงดังรบกวนต่อคนรอบข้าง
- การนอนกรนร่วมกับภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีภาวะหยุดหายในร่วมด้วย เสียงกรนในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่ไม่สม่ำเสมอ มีเสียงกรนและหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ซึ่งในช่วงที่มีภาวะหยุดหายใจระดับ ออกซิเจนในเลือดแดงอาจจะต่ำลงกว่าปกติ ทำให้หัวใจ ปอด และสมองทำงานหนักมากขึ้น อาจมีสะดุ้งตื่นกลางดึกทำให้การนอนหลับพักผ่อนไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อตื่นนอนผู้ป่วยจะรู้สึกว่านอนไม่พอ

อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้นได้แก่ มีอาการง่วงมากผิดปกติในช่วงเวลากลางวัน สมาธิไม่ดี และมีปัญหานอนกรน ทั้งนี้อาจพบอาการและอาการแสดงอื่นได้
- ตื่นนอนด้วยความรู้สึกที่ไม่สดชื่น
- มีอาการหายใจไม่ออกขณะหลับ
- มีการหยุดหายใจขณะหลับ และนอนกระสับกระส่าย ( โดยได้ประวัติจากคนใกล้ชิด )
- เจ็บคอ คอแห้ง เมื่อตื่นนอน
- หงุดหงิดง่าย บุคลิกภาพเปลี่ยน
- ปัสสาวะรอที่นอน ( มักจะพบในเด็ก )
- ความต้องการทางเพศลดลง และมีผลต่อสุขภาพ เช่น
- โรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจขาดเลือด
- ภาวะตีบตันของหลอดเลือดในสมอง
- ความดันโลหิตสูงของหลอดเลือดในปอด
แพทย์จะทำการสอบถามข้อมูลจากตัวผู้ป่วย และผู้ใกล้ชิด (สามีหรือภรรยา) และให้ทำแบบสอบถามว่ามีอาการเผลอหลับ ในสถานการณ์ต่างๆ หรือไม่
ปัจจัยที่ทำให้อาการกรนมากขึ้นและมีภาวะอุดตันทางเดินหายใจ
- น้ำหนักตัวมากขึ้น ทำให้ไขมันสะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น ช่องทางเดินหายใจจึงแคบลง
- เพศชาย เพราะเชื่อว่า ฮอร์โมนเพศหญิงทำให้ช่องทางเดินหายใจมีความตึงตัวที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นเพศชายมีแนวโน้มจะมีอาการกรนและมีภาวะอุดกลั้นทางเดินหายใจมากกว่าเพศหญิง
- อายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนบนจะตึงตัวน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาบางชนิด กดการตอบสนองของร่างกายต่อภาวะขาดออกซิเจน และภาวะคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้กล้ามเนื้อของช่องทางเดินหายใจยุบตัวง่ายขึ้น
- การสูบบุหรี่ ทำให้ช่องทางเดินหายใจอักเสบ หนาตัว และมีเสมหะมากขึ้น
- โครงสร้างกระดูกใบหน้า เช่น กระดูกแก้มที่แบนหรือคางที่เล็กและคางยื่นไปข้างหน้า
- โรคทางช่องจมูก เช่น ภูมิแพ้อากาศ ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกบวม
- ภาวะขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน
หลังจากได้ข้อมูลเบื้องต้น แพทย์หู ตา คอ จมูก จะทำการตรวจร่างกาย โดยการส่องกล้องตรวจขนาดเล็ก แบบโค้งงอได้ เพื่อสืบค้นหาตำแหน่ง การอุดตันของทางเดินหายใจส่วนบน ตั้งแต่จมูกถึงกล่องเสียง อาจพิจารณาถ่ายภาพ X-ray และตรวจเลือด
แพทย์จะแนะนำให้ ทำการตรวจการนอนหลับ Polysomnography หรือเรียกอีกชื่อคือ Sleep Study เพื่อบันทึกลักษณะความผิดปกติขณะนอนหลับ และนำไปวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

บันทึกข้อมูลต่างๆ
- การตรวจวัดระดับความลึกของการนอนหลับ
- การตรวจวัดระดับออกซิเจน ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและหน้าท้อง
- การตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ
- ท่านอนและเสียงกรน
- การตรวจการเต้นของหัวใจ เป็นต้น
หลังจากนั้นจะนำข้อมูลต่างๆ ร่วมกับผลการตรวจร่างกาย มาทำการวินิจฉัย และการวางแผนการรักษาต่อไป
แนวทางการรักษา
- ปรับสุขภาพอนามัยการนอนหลับ นอนพักผ่อนเป็นเวลาทุกวัน ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายก่อนนอนหลับ
- ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงในท่านอนหงาย
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยานอนหลับหรือยาที่กดประสาทส่วนกลาง
- ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจขณะนอนหลับ CPAP ( Continuous Positive Airway Pressure ) ซึ่งเครื่องจะอัดอากาศที่เหมาะสม ทำให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น
- Oral appliances เป็นเครื่องมือทางทันตกรรม ที่ช่วยเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น
- การผ่าตัด มีอยู่หลายวิธีตามตำแหน่งที่มีภาวะอุดตัน
- ช่องจมูกและหลังโพรงจมูก เช่น ผ่าตัดริดสีดวงจมูก ผ่าตัดผนังจมูกให้ตรง ลดขนาดของเยื่อบุจมูกบวมด้วยเครื่องซอมโนพลาสตี้ ( Radiofrequency Volumetric Tissue Reduction )
- ผ่าตัดทอนซิลและตกแต่งบริเวณลื้นไก่เพดานอ่อน Uvulopalatopharyngoplarty ( UPPP )
- ผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรมาทางด้านหน้าเพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น Maxillo – Mandibular Advancement ( MMA )
ข้อควรปฏิบัติในการเตรียมตัวตรวจการนอนหลับ
- อาบน้ำ สระผม ให้สะอาดก่อนมาตรวจ ห้ามใส่น้ำมันหรือครีมใดๆ
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ในวันที่จะมาตรวจ
- หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวันของวันที่จะมาตรวจ
- กรุณาจดชื่อ และขนาดยา พร้อมทั้งนำยาทุกชนิดที่รับประทานอยู่ติดตัวมาด้วย ( หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องยา กรุณาปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจ )
- กรุณามาถึงโรงพยาบาลก่อน 20.00 น. โดยติดต่อที่แผนกรับผู้ป่วยใน
- เมื่อท่านมาถึง เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจจะเริ่มทำการติดตั้งเครื่องมือและตัวตรวจวัดต่างๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 -60 นาที
- สำหรับการตรวจตอนกลางคืน จะสิ้นสุดลงเวลาประมาณ 00.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (เวลาอาจมาการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับเวลาเข้านอน – ตื่นนอนตามปกติของท่าน)
- ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมอาหารเช้าวันรุ่งขึ้นสำหรับท่านรับประทานก่อนกลับบ้าน
ลิงก์เพิ่มเติม
ไปที่ Sleep Lab ศูนย์ตรวจและวิเคราะห์คุณภาพการนอนหลับ
ไปที่ แบบสอบถามอาการง่วงนอนเอ็บเวิร์ธ
Package การตรวจ Sleep test
- โปรแกรมตรวจคุณภาพการนอน : Full night Sleep test ราคา 13,300 บาท
- โปรแกรมตรวจคุณภาพการนอน พร้อมกับทดสอบการใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (C-PAP Titration) : Split night Sleep test ราคา 15,900 บาท
จอง โปรแกรมตรวจคุณภาพการนอน ที่นี่
ติดต่อสอบถาม
สามารถโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 02-115-2111
หรือโทร. 096-932-5936 คุณปรียาลักษณ์ หัวหน้าแผนกผู้ป่วยนอกอายุรกรรม
หรือเข้ามาปรึกษาที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ตได้เลยค่ะ
บทความและวีดีโอที่น่าสนใจ
- นอนกรน เสี่ยง หยุดหายใจ
- นอนกรนอันตรายไหม
- รักษาการนอนกรนที่มีโรคหยุดหายใจขณะหลับ
- นอนกรน…เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
- การตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep test)
- นอนกรน – เท่งโหน่งวิทยาคม
- ศิริราช360° [by Mahidol] ทนนอนกรนเสี่ยงถึงตาย (1/2)
- ศิริราช360° [by Mahidol] ทนนอนกรนเสี่ยงถึงตาย (2/2)
- สถานีความคิด ตอน นอนกรนเสี่ยงตาย
- พบหมอศิริราช : นอนกรนในเด็ก
- ศิริราช The Life [by Mahidol] ซีรีส์ x-ray ห้องตรวจ ตอน ต่อมทอนซิลโต และ กระดูกงอก