สาเหตุของอาการบาดเจ็บ
- สภาพร่างกายไม่พร้อม / ไม่แข็งแรง ขาดความพร้อมทั้งสภาพความฟิตของร่างกายและข้อต่อกล้ามเนื้อ ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บทั้งระหว่างซ้อมหรือแข่งขันได้
- การวอร์มอัพร่างกายไม่ดีพอ การวอร์มอัพร่างกายทั้งก่อนและหลังการลงเล่นจะช่วยให้สภาพข้อต่อและกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น พร้อมต่อการแข่งขันและฟื้นฟูได้ดี
- ออกกำลังกายเกินความสามารถของร่างกาย
- หากผู้เล่นไม่ได้ประเมินสภาพร่างกายตนเอง อาจเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้โดยเฉพาะเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณขาหนีบ สะโพก เข่า และข้อเท้า เป็นต้น
- เลือกใช้อุปกรณ์ ไม่เหมาะสมหรือไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน
- ขาดความรู้ความเข้าใจในกฎกติกา หากไม่เข้าใจในกติกาก็อาจส่งผลอันตรายต่อผู้เล่นหรือคู่แข่งได้
วิธีป้องกันจากการบาดเจ็บ
- ต้องมีการวอร์มอัพร่างกายก่อนลงสนามทุกครั้ง และหลังลงสนามต้องยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้สมดุลต่อสภาพร่างกายแต่ละคน
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน
- ทานอาหารให้ครบถ้วนตามสารอาหาร โดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรตที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการลงเล่น
- ใส่อุปกรณ์ป้องกันให้เหมาะสม เช่น สนับแข้งที่ช่วยลดการกระแทกบริเวณขาและหน้าแข้ง รองเท้าฟุตบอลควรมีปุ่มที่เหมาะสมกับสภาพพื้นสนาม เพื่อการยึดเกาะขณะลงเล่นในสนาม เป็นต้น
- ควรมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงและไม่บาดเจ็บบริเวณอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง หากมีอาการบาดเจ็บมาก่อนแล้ว อย่างบริเวณกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเอ็นรอบข้อ อาจเกิดการบาดเจ็บซ้ำ ทำให้ใช้เวลาในการรักษายาวนานขึ้น และหากข้อไม่มั่นคงจำเป็นต้องรักษาจนหายดีก่อนลงเล่นอีกครั้ง เพราะอาจเกิดจากการบาดเจ็บรุนแรง
วิธีปฐมพยาบาลและอาการที่ควรพบแพทย์
หลักเบื้องต้นในการปฐมพยาบาลมีดังนี้
หากเกิดการบาดเจ็บขึ้น ควรหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ไม่ควรฝืนเล่นต่อไป
การประคบเย็นใน 1-2 วันแรกหลังเกิดการบาดเจ็บจะช่วยลดอาการปวดบวมลงได้ โดยใช้ cold pack หรือ ผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งประคบตรงบริเวณที่บาดเจ็บประมาณ 15 นาที เว้นไปประมาณ 10 นาที แล้วจึงประคบอีกครั้ง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังเกิดการบาดเจ็บ
การรัดด้วยผ้ายืดบริเวณที่บาดเจ็บจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการบวมมากขึ้น หากบาดเจ็บบริเวณแขนหรือขา ให้ยกแขนขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อเป็นการห้ามเลือด
หลักการดังกล่าวใช้ในกรณีที่มีการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย หากเป็นอาการบาดเจ็บที่รุนแรง หลังจากปฐมพยาบาลแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์