ประสิทธิภาพของ วัคซีนป้องกัน Covid 19

โอไมครอน (Omicron) เป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ หรือเรียกว่าสายพันธุ์ B.1.1.529 หรือ GR/484A เป็นสายพันธุ์ย่อยชนิดหนึ่งของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคโควิด-19 มีการรายงานการค้นพบไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ โดยรายงานต่อองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 หลังจากนั้นองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง (variants of concern : VOC)

นอกจากนี้ยังพบโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เป็นเชื้อกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้สายพันธุ์ BA.4/BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ต้องเฝ้าระวัง (VOC) และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดทั่วโลก เนื่องจากสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R (ตำแหน่งเดียวกันกับสายพันธุ์เดลตา) เชื้อไวรัสมีความสามารถในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดได้ดี ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ซึ่งต่างจากสายพันธุ์ BA.1/BA.2 ที่เชื้อมีความสามารถในการแบ่งตัวได้ดีในเซลล์เยื่อบุของระบบทางเดินหายใจส่วนบน

โควิดสายพันธุ์โอไมครอนสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา อาการที่พบได้บ่อยของสายพันธุ์นี้ ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย ไอ ไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก คลื่นไส้อาเจียน และถ่ายเหลว

ความอันตรายของโอไมครอนที่น่ากังวล คือเชื้อมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดการจากฉีดวัคซีนได้ และอาจทำให้วัคซีนโควิดที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อลดน้อยลง เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อซ้ำแม้ว่าจะเคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตาม

อัพเดตจาก องค์การอนามัยโลก รายงานล่าสุดจาก WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ในรอบเดือนที่ผ่านมา Omicron ครองการระบาดทั่วโลกถึง 99.9% ทั้งนี้พบว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 นั้นมีสัดส่วนสูงถึง 80.8% ตามมาด้วยสายพันธุ์ BA.4 สัดส่วน 7.8% ในขณะที่ BA.2 นั้นมีสัดส่วนเพียง 3.1%

ล่าสุด US FDA ได้อนุมัติให้มีการใช้วัคซีนรุ่นใหม่สำหรับโควิด-19 ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด Bivalent ของ Pfizer-BioNTech และ Moderna เพื่อฉีดเป็นเข็มกระตุ้น (Booster dose) วัคซีนชนิด Bivalent นั้นจะครอบคลุมเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์ BA.4/BA.5 โดยวัคซีน Pfizer-BioNTech จะใช้สำหรับคนอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ส่วน Moderna ใช้สำหรับคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป การฉีดเข็มกระตุ้น (Booster dose)  ด้วยวัคซีนชนิด Bivalent นั้น สามารถให้ได้ตั้งแต่ 2 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ได้วัคซีนเข็มสุดท้ายเป็นเข็มที่ 2 หรือได้วัคซีนเข็มสุดท้ายเป็นเข็มกระตุ้น (วัคซีนเข็ม 4, 5)

วัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนักจากโควิด ได้มากกว่าป้องกันอาการป่วยระดับปานกลาง หรือการติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการจากโรคนี้ ยิ่งโรคมีความรุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ ประสิทธิภาพของวัคซีนก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเป้าหมายหลักของวัคซีน จึงไม่ใช่การหยุดยั้งการแพร่เชื้อโควิด แต่คือการทำให้เชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย สร้างความเสียหายได้น้อยลง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ที่อาจทำให้ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือทำให้เสียชีวิต เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีการฉีดให้ประชาชนเป็นประจำทุกปี ไม่ได้มีเป้าหมายหลักในการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ แต่เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดขึ้นในคนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ และคนชรา