#สาเหตุการมีบุตรยาก
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ (Polycystic Ovarian Syndrome : PCOS) เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนในร่างกายโดยจะพบซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เมื่อซีสต์หรือถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ อาจส่งผลต่อประจำเดือน การตั้งครรภ์ และสุขภาพโดยทั่วไป
สาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยที่สัมพันธ์ได้แก่ ยีน(พันธุกรรม) ภาวะดื้ออินซูลิน และการอักเสบของร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันพบว่าสตรีที่เป็นโรคนี้จะมีความผิดปกติของฮอร์โมนอยู่หลายตำแหน่ง และอาจพบว่ามีระดับเอนไซม์อินซูลินในกระแสเลือดมากกว่าปกติด้วย
PCOS มักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุประมาณ 15-30 ปี) แม้ว่าอาการอาจเริ่มแสดงให้เห็นในช่วงวัยรุ่นที่ประจำเดือนเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ แต่บางคนอาจไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้จนกระทั่งมีปัญหาในการตั้งครรภ์ในช่วงวัยผู้ใหญ่
สังเกตอาการเบื้องต้น
- ประจำเดือนเว้นช่วงนาน มาห่างกันมากกว่า 35 วัน หรือปีหนึ่งมีประจำเดือนไม่เกิน 6-8 ครั้ง
- รอบประจำเดือนขาด โดยไม่มาติดต่อกันนานเกิน 3 รอบในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาปกติสม่ำเสมอหรือไม่มาติดต่อกัน 6 เดือนในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แสดงถึงภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง
- ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือมามากเกินไป อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ
- มีฮอร์โมนเพศชายอยู่ในร่างกายมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะขนดก สิวขึ้นมากกว่าปกติ ผิวมัน ศีรษะล้าน
- มีน้ำหนักมากเกินหรือมากขึ้น ทำให้ดื้อต่ออินซูลิน เพิ่มอาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
ความน่ากลัวของโรค
- มีบุตรยาก เนื่องจากภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง และหากตั้งครรภ์ได้ก็มีโอกาสแท้งบุตรในช่วง 3 เดือนแรก เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกเติบโตช้าขณะอยู่ในครรภ์
- เพิ่มความเสี่ยง การหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม
วิธีการรักษา
- ลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหาร เมื่อลดน้ำหนักได้ในเกณฑ์ปกติ การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายจะกลับมาใกล้เคียงปกติประจำเดือนมาสม่ำเสมอ
- ทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรแพทย์อาจให้ทานฮอร์โมนช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่ต้องการมีบุตร แพทย์จะรักษาด้วยยากระตุ้นการตกไข่ หากไม่ได้ผลอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อกระตุ้นการตกไข่และการตั้งครรภ์
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ได้แก่ รักษาภาวะดื้ออินซูลิน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รักษาและป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ฯลฯ
แนวทางการป้องกัน
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และการออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เลี่ยงแป้งและอาหารไขมันสูง
- ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
- ไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส เพราะความเครียดทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ
- ยารักษา ยาคุมกำเนิดเพื่อควบคุมประจำเดือนและฮอร์โมน ยารักษาสิวหรือยารักษาอาการมีขนเยอะ ยาเมตฟอร์มินสำหรับผู้ที่มีปัญหาอินซูลิน
- การรักษาด้วยฮอร์โมน ในบางกรณีอาจมีการใช้ยาฮอร์โมนเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย
- การผ่าตัด ในกรณีที่รุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น อาจมีการผ่าตัดเพื่อเอาถุงน้ำออก
เนื่องจาก PCOS เป็นภาวะที่เกิดจากหลายปัจจัย การป้องกันที่ชัดเจนอาจไม่สามารถทำได้ แต่การรักษาสุขภาพที่ดีด้วยการรับประทานอาหารที่สมดุล ออกกำลังกายเป็นประจำ และรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการ PCOS ได้