ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD คือ การที่ร่างกายมีระดับของเอนไซม์ Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase (G6PD) ต่ำกว่าคนปกติ ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้พบได้ในเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เม็ดเลือดแดงคงตัว และป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย
สาเหตุของโรค
โรคพร่องเอนไซม์ G6PD เป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งบางคนก็ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคนี้ เนื่องจากไม่ได้มีการตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเกิด
อาการของโรค
คนไข้จะมีอาการก็ต่อเมื่อได้รับยา หรือสารต้องห้าม ซึ่งได้แก่
- ยาบางกลุ่ม เช่น ยากลุ่ม NSAIDs บางชนิด ยาแอสไพริน ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟาหรือไนโตรฟูแรนโทอิน เป็นต้น ยาต้านมาลาเรียบางชนิด เช่น ควินิน หรือควินิดีน เป็นต้น
- อาหารบางชนิด เช่น ถั่วปากอ้า เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ โยเกิร์ตบางชนิดที่มีถั่ว ไวน์แดง
- การได้รับกลิ่นลูกเหม็น
- เคยมีรายงานการมีอาการหลังได้รับวิตามิน ซี ในปริมาณสูง ทางหลอดเลือด
เมื่อได้รับยา หรือสารต้องห้ามเข้าไปในร่างกาย จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก คนไข้จะมีอาการซีดลง รู้สึกเหนื่อยเพลีย ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีโค้ก หรือสีน้ำปลา โดยจะมีอาการ 1-2 วันหลังได้รับสารต้องห้าม ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์ทันที
การรักษา
การรักษาเป็นแบบประคับประคอง ในกรณีที่คนไข้มีอาการเหนื่อยเพลีย หน้ามืด เป็นลม ปัสสาวะเป็นสีโค้ก เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์จะให้น้ำเกลือ เพื่อขับสารสีโค้กให้ออกจากร่างกายโดยเร็ว หลังจากนั้นเม็ดเลือดแดงก็จะหยุดการแตกตัวได้ภายใน 7-10 วัน
การป้องกัน
แนะนำตรวจ G6PD เพิ่มเติม หากไม่เคยตรวจคัดกรองมาก่อน
หากทราบว่ามีภาวะบกพร่องเอนไซม์ G6PD
- ผู้ป่วยจะต้องมีสมุดประจำตัว เวลาไปพบแพทย์หรือเภสัชกร จะได้ทราบว่าควรหลีกเลี่ยงยาชนิดใดบ้าง
- หลีกเลี่ยงการกินถั่วปากอ้า การกินเชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ โยเกิร์ตบางชนิดที่มีถั่ว ไวน์แดง
- หลีกเลี่ยงการได้กลิ่นลูกเหม็น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs บางชนิด ยาแอสไพริน ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟา หรือไนโตรฟูแรนโทอิน เป็นต้น ยาต้านมาลาเรียบางชนิด เช่น ควินิน หรือควินิดีน เป็นต้น
- ควรหลีกเลี่ยงการได้รับวิตามิน ซี ทางหลอดเลือด