โรคเส้นเลือดหัวใจ เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 17.9 ล้านคน หรือประมาณ 31%
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจ ได้แก่ การสูบบุหรี่ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ขาดการออกกำลังกาย และการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตามมาได้
โรคเส้นเลือดหัวใจหรือโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเมื่อหลอดเลือดตีบมากกว่าหรือเท่ากับ 50% ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สามารถแบ่งกลุ่มอาการได้ 2 กลุ่ม คือ ภาวะเจ็บหน้าอกคงที่ ( Chronic stable angina) และภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome)
ภาวะเจ็บหน้าอกคงที่นั้นผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ ในระยะเวลา 2 เดือน ส่วนภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง เกิดขึ้นทันทีทันใด หรือมีอาการเจ็บหน้าอกขณะพักนานมากกว่า 20 นาที ลักษณะอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ได้แก่ เจ็บหรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก คล้ายของหนักกดทับ อาการสัมพันธ์กับการออกแรง อาจร้าวไปแขน คอ หรือกรามได้ มีช่วงเวลาที่อาการลดลงหรือมีอาการตลอดเวลาได้
อาการอื่นที่เกิดร่วมได้ เช่น เหงื่อออก ใจสั่น เหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน วูบเป็นลม หรือปวดท้องได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ให้มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจสัญญาณชีพ ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจเลือดดูเอนไซม์หัวใจ ถ้าพบว่าอยู่ในกลุ่มโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน จะต้องทำการรักษาโดยการขยายหลอดเลือดหัวใจแบบเร่งด่วน แต่ถ้าพบว่าอยู่ในกลุ่มโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ จะต้องทำการรักษาด้วยยา และตรวจการทำงานของหัวใจเพิ่มเติม แล้วทำการขยายหลอดเลือดต่อไป
นพ.พรหมรักษ์ จึงวิโรจน์
อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต