สาเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษ
ภาวะอาหารเป็นพิษ ที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง เกิดได้จากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อหรือสารพิษของเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือโปรโตซัว เชื้อโรคบางชนิดที่ปนเปื้อนในอาหารจะสามารถสร้างสารพิษ ซึ่งสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิดจะทนต่อความร้อน แม้เชื้อที่ก่อสารพิษจะตายไปแล้วจากการปรุงด้วยความร้อน แต่สารพิษอาจยังคงอยู่ในอาหารได้
อาหารที่อาจพบเป็นสาเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษ
นมหรือผลิตภัณฑ์ของนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ เนื้อสัตว์ ไข่ สลัด แซนด์วิช อาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารกระป๋อง อาหารทะเล อาหารที่ปรุงตั้งไว้นานแล้วไม่ได้นำมาอุ่นให้ร้อนเพียงพอก่อนรับประทาน
อาการของภาวะอาหารเป็นพิษ
เมื่อรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารพิษของเชื้อดังกล่าว จะเกิดอาการปวดท้อง ลักษณะปวดบิดเป็นพัก ๆ อาเจียน ซึ่งอาจจะมีเศษอาหารที่เป็นต้นเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษออกมาด้วย ถ่ายเหลว อาจถ่ายเป็นน้ำ น้ำปนเนื้อ หรืออาจมีมูกเลือดปน ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ และอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย
โดยทั่วไป ถ้าอาการไม่รุนแรง อาการต่าง ๆ มักจะหายได้เองภายในระยะเวลา 24-48 ชม. หรืออาการค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
ในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรงอาจมีอาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง และมีอาการแสดงของการทำงานล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เช่น ปัสสาวะออกน้อยลงจากไตเสื่อมฉับพลัน ซึมลง หรือสับสน เป็นต้น
ระยะฟักตัวของโรค
ระยะฟักตัวของโรคขึ้นกับชนิดของเชื้อและสารพิษของเชื้อ เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารพิษของเชื้อเจือปนอยู่แล้ว (Preformed toxin จากเชื้อ Staphylococcus aureus หรือ Bacillus cereus) มีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 30 นาที – 6ชม. การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่สร้างสารพิษหลังเข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อ enterotoxigenic Escherichia coli หรือมีกลไกการก่อโรคโดยการทำลายเยื่อบุทางเดินอาหาร เช่น เชื้อ Salmonella, Campylobacter หรือ Shigella) จะมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 24 ชม. หรืออาจนานกว่านี้ สำหรับการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโปรโตซัว เช่น Cryptosporidium parvum จะมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 7 วัน
อาการที่ต้องมาพบแพทย์
- อาเจียนหลายครั้ง หรือ ถ่ายเหลวหลายครั้ง
- มีอากาการอ่อนเพลีย ซึมลง มีไข้สูง หอบเหนื่อย มีอาการทางระบบประสาท
- รับประทานอาหารและน้ำดื่มได้น้อยลง
- มีอาการถ่ายเป็นมูก หรือเลือดปน
- อาการไม่ดีขึ้นภายหลังระยะเวลา 48 ชม.
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง
พ.ญ. กัญญวิสาข์ ตั้งกิจวณิชย์เจริญ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ