มะเร็งตับอ่อน เกิดขึ้นจากเซลล์ของตับอ่อน ( ตับอ่อนลักษณะเป็นต่อมขนาดใหญ่ มีรูปร่างยาวรีคล้ายใบไม้ ประกอบด้วยส่วนหัว ส่วนกลาง และส่วนหาง โดยมีลำไส้เล็ก ล้อมอยู่ในส่วนหัวของตับอ่อน อยู่ลึกเข้าไปในช่องท้องด้านหลัง ใกล้กับกระเพราะอาหาร )

ชนิดของมะเร็งตับอ่อน

ประมาณ 90-95% ของโรคมะเร็งตับอ่อนทั้งหมด เป็นชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา ( Adenocarcinoma ) โรคมะเร็งตับอ่อนชนิดนี้จะมีความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับปานกลาง

กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นมะเร็งตับอ่อนสูง

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีรูปร่างค่อนข้างอ้วน และมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีนัก เช่น ชอบสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ชอบบริโภคอาหารไขมันสัตว์มากและผักผลไม้น้อย เป็นต้น
  • ผู้ที่ทานอาหารมันเลี่ยนแล้วท้องเสีย โดยเฉพาะผู้ที่ถ่ายออกมาแล้วพบว่ามีไขมัน ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าสมรรถภาพของสารคัดหลั่งของต่อมมีท่อในตับอ่อนถูกทำลาย
  • คนวัยหนุ่มสาวที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน แต่กลับเป็นโรคเบาหวานขึ้นมากะทันหัน ซึ่งอาจเป็นการล่วงหน้าของโรคมะเร็งตับอ่อนได้ และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมามากกว่า 5 ปีจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนได้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 1.2 เท่า

อาการ

จะแสดงเมื่อผู้ป่วยมีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น กดเบียดเนื้อตับอ่อนส่วนที่ดี ทำให้การทำงานของตับอ่อนผิดปกติไป

  1. ตับอ่อนเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร คอยสร้างน้ำย่อยมาใช้ในการช่วยย่อยอาหารที่ทานเข้าไป โดยหลั่งน้ำย่อยเข้าไปในลำไส้เล็ก ผ่านทางท่อตับอ่อน และตับอ่อน เมื่อตับอ่อนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะมีปัญหาหลังจากรับประทานอาหารเข้าไปคือ ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง จากอาหารไม่ย่อย หรือ ย่อยยาก บางคนอาจมี เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ตัวเหลือง ตาเหลือง ( ดีซ่าน )
  2. ตับอ่อน ยังมีหน้าที่ในส่วนของระบบต่อมไร้ท่อด้วย เป็นผู้สร้างฮอร์โมนต่างๆให้ร่างกาย เช่น ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนกลูคาก้อน ที่เป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด บางครั้งทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป
  3. นอกจากนี้หากก้อนมะเร็งใหญ่ขึ้นไปกดเบียดเส้นประสาท Celiac ผู้ป่วยประมาณ 60-90% จะมีอาการปวดมากจากตัวก้อนมะเร็ง ซึ่งกระทบกับการใช้ชีวิตมาก ๆ ของผู้ป่วย

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อน

เป็นมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่วินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาในขณะที่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กอยู่ ยังคงใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ และผู้ป่วยมักจะทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคนี้ เมื่อมีอาการของโรคที่เป็นมากแล้ว ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่และเริ่มลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้ว

  • การสอบถามประวัติอาการ และ การตรวจร่างกาย เป็นวิธีการตรวจเบื้องต้นที่แพทย์มักใช้
  • การตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจเพื่อให้เห็นโครงสร้างภายในของตับอ่อนและท่อน้ำดี เพื่อที่จะทราบได้ว่ามีการอุดตันหรือไม่
  • การเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ ( CT Scan ) คือการภาพเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อแสดงให้เห็นตำแหน่งและขนาดของจุดเกิดโรค และยังสามารถช่วยวินิจฉัยได้ว่า โรคมีการลุกลามไปยังตับและต่อมน้ำเหลืองหรือไม่
  • การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( MRI ) เป็นการถ่ายภาพคอมพิวเตอร์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นภาพของอวัยวะภายในและสามารถตรวจพบมะเร็งตับอ่อนได้
  • การตัดชิ้นเนื้อตรวจพิสูจน์ทางพยาธิ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อนเนื้อ และความชำนาญของแพทย์ด้วยด้วย

การรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน

แพทย์จะแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำผ่าตัดได้และกลุ่มที่ทำผ่าตัดไม่ได้
สำหรับการรักษามะเร็งตับอ่อนที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งและอวัยวะข้างเคียงออก แต่หลายครั้งที่มักพบโรคในระยะลุกลาม จนไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยวิธิการรักษามะเร็งตับอ่อน ได้แก่

1. การผ่าตัด

  • Whipple procedure วิธีนี้เป็นวิธีผ่าตัดที่ใช้บ่อยที่สุด ซึ่งประกอบไปด้วยการผ่าตัดเพื่อเอาตับอ่อนออก ลำไส้เล็กส่วนต้น ถุงน้ำดี และแม้กระทั่งกระเพาะปัสสาวะบางส่วน
  • การผ่าตัดโดยวิธีบายพาส (Hepaticojejunostomy/gastrojejunostomy bypass) โดยการผ่าตัดโดยระบายน้ำดีออกบายพาสทางลำไส้เล็กหรือการผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหารไปลำไส้เล็ก เพื่อประคองอาการ ทำให้น้ำดีไหลสู่ระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากเซลล์มะเร็งลุกลามจึงต้องทำเส้นทางเบี่ยงของทางเดินน้ำดีและกระเพาะอาหาร ไม่ให้ถูกปิดกั้น

2. การรักษาด้วยยาในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

หากผู้ป่วยอยู่ในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว เราจะทำการรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด หรือจะให้การรักษาแบบตรงเป้าด้วยยามุ่งเป้าไปที่เซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ หรือบางคนอาจเลือกเป็นการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด

  • ยาเคมีบำบัด เป็นกลุ่มยาหลักที่ใช้ในการควบคุมมะเร็งตับอ่อนระยะแพร่กระจาย พบว่าการให้ยาเคมีบำบัดสามารถยืดระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ป่วย เมื่อเทียบกับการรักษาตามอาการเพียงอย่างเดียว เนื่องจากยาเคมีบำบัดที่มีข้อมูลในการรักษามะเร็งตับอ่อนระยะแพร่กระจายสามารถให้ได้หลายแบบ
  • ยามุ่งเป้า การใช้ยามุ่งเป้ามีความจำเป็นต้องตรวจการกลายพันธุ์ของยีนก่อนใช้ยาเสมอ หากไม่พบการกลายพันธุ์ของยีนที่เฉพาะเจาะจงกับยามุ่งเป้าชนิดนั้นๆจะไม่สามารถใช้ยามุ่งเป้าได้ ซึ่งยามุ่งเป้าที่มีข้อมูลในมะเร็งตับอ่อนระยะแพร่กระจาย ได้แก่
    • ยากลุ่ม NTRK Inhibitor จะพิจารณาใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนที่ชื่อว่า NTRX gene fusion จากชิ้นเนื้อของก้อนมะเร็ง ซึ่งอุบัติการณ์ในการตรวจพบในมะเร็งตับอ่อนถือว่าน้อยมาก คือน้อยกว่าร้อยละ 5
    • ยากลุ่ม PARP Inhibitor จะพิจารณาใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่ตรวจพบการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของยีนที่ชื่อว่าBRCA1/BRCA2 โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่าหลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดขนานแรกนาน 4-6 เดือน และสามารถควบคุมโรคได้

    การให้ยากลุ่ม PARP Inhibitor สามารถช่วยยืดระยะเวลาการกำเริบของโรค

อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ในการตรวจพบการถ่ายทอดของยีนชนิดนี้ในมะเร็งตับอ่อนพบเพียงร้อยละ 4-7
ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยากลุ่มนี้ไม่สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนระยะแพร่กระจายทุกคน ก่อนใช้ยามีความจำเป็นต้องตรวจทางโมเลกุลเพิ่มเติม หากพบ MSI-high หรือ dMMR จึงจะสามารถใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดได้ อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ในการตรวจพบดังกล่าวในมะเร็งตับอ่อนถือว่าค่อนข้างน้อยคือประมาณร้อยละ 1-2