มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ไม่ได้มีการแบ่งระยะโรคเหมือนมะเร็งที่เป็นก้อน แต่แบ่งจากความเสี่ยงของการเกิดโรคซ้ำ คือ เมื่อคนไข้ได้รับการรักษาไปแล้วสามารถหายขาดได้
แต่ก็มีความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้อีกครั้ง ข้อเท็จจริงคือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมีความรุนแรงกว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง โดยเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ซึ่งมีสาเหตุไม่แน่ชัด
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ (Acute Lymphoblastic Leukemia – ALL)
ความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ความเสี่ยงสูงมาก ความเสี่ยงสูง และความเสี่ยงปกติ
- คนไข้ส่วนใหญ่มักโชคดีที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปกติ โอกาสหายขาดอยู่ที่ร้อยละ 80
- ส่วนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสหายขาดประมาณร้อยละ 60
- ในกลุ่มความเสี่ยงสูงมากโอกาสหายขาดอยู่ที่ร้อยละ 40
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ (Acute Myeloid Leukemia – AML)
ความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
- กลุ่มที่มีความเสี่ยงปกติ มีโอกาสหายขาดอยู่ที่ร้อยละ 60-80
- กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสหายขาดประมาณร้อยละ 40-50
ความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง
ระดับความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำ จะต้องประมวลจากหลายปัจจัยร่วมกัน ลักษณะทางคลินิกของคนไข้ เช่น
- จำนวนเม็ดเลือดขาว ในตอนที่มาโรงพยาบาลว่าสูงมากน้อยแค่ไหนในครั้งแรก
- อายุขณะเกิดโรค
- ชนิดของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ลักษณะทางยีนพันธุกรรมผิดปกติที่พบ