Glycemic Index (GI) คือการวัดความสามารถของคาร์โบไฮเดรตในอาหารแต่ละชนิด ในการเพิ่มระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด โดยเทียบจากค่ามาตรฐานจากน้ำตาลกลูโคส เป็นตัวบอกคุณภาพของคาร์โบไฮเดรตของอาหารชนิดนั้น เช่น อาหาร A มี GI สูงกว่าอาหาร B แปลว่า อาหาร A ทำให้น้ำตาลกลูโคสในเลือดของเราสูงขึ้นเร็วกว่า อาหาร B นั่นเอง
ระดับน้ำตาลในเลือดที่เราตรวจวัดในปัจจุบัน ก็คือ น้ำตาลกลูโคสในเลือดนั่นเอง การที่ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้น เพื่อดึงให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เราหิวเร็วหลังทานอาหารที่มี GI สูง และทานน้ำตาลเพิ่มขึ้นได้ และหากปล่อยให้เกิดสภาพแบบนี้ไปนานๆ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และโรคอ้วนตามมาได้อีกด้วย
ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มี GI สูงเป็นประจำ ในปัจจุบัน เราแบ่งค่า GI ออกเป็น 3 ระดับ
- อาหารที่มี GI สูง คือมีค่า GI ≥ 70 เป็นกลุ่มอาหารที่แนะนำให้หลีกเลี่ยง
- อาหารที่มี GI ปานกลาง คือมีค่า GI 56-69
- อาหารที่มี GI ต่ำ คือมีค่า GI ≤ 55 เป็นกลุ่มอาหารที่แนะนำให้ทาน เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะทำให้น้ำตาลในเลือดค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
จากการศึกษาทางคลินิก เราพบว่า คนที่รับประทานอาหารที่มีค่า GI สูงติดต่อกันนาน 6-17 เดือน เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน, โรคอ้วน และโรคหัวใจและหลอดเลือด มากกว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีค่า GI ต่ำ และยังพบว่าคนที่รับประทานอาหาร GI สูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี เมื่อเทียบกับคนที่รับประทานอาหาร GI ต่ำอีกด้วย
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของการใช้ค่า GI ก็คือ วิธีการรับประทานอาหารของเราโดยทั่วไป เป็นการรับประทานอาหารหลายชนิดร่วมกัน ปริมาณอาหารที่รับประทาน และความแตกต่างในกระบวนการย่อย การดูดซึม และเมตาโบลิซึมของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ในขณะที่ค่า GI ของอาหารยังเป็นการวัดจากอาหารแต่ละชนิดเดี่ยวๆ เท่านั้น จึงทำให้การคาดคะเนระดับน้ำตาลในเลือดหลังทานอาหารเป็นไปได้ยาก
ดังนั้นนอกจากค่า GI ของอาหารแล้ว การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังทานอาหารแต่ละชนิดจึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ดีว่าร่างกายของแต่ละคนตอบสนองต่ออาหารที่ทานมากน้อยแค่ไหน แต่แทนที่จะต้องเจ็บตัวหลายครั้งในการเจาะระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร เราสามารถเจ็บตัวครั้งเดียวและสามารถตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดได้ถึง 480 ครั้งต่อวัน ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 14 วัน และมีการแสดงผลเลือดผ่านทางแอพพลิเคชั่น แบบ real time จึงทำให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ระดับน้ำตาลในเลือด และทำให้เรารู้ว่าอาหารแบบไหนที่ทำให้น้ำตาลในเลือดเราสูงแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องการเลือกรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสมสำหรับตัวเอง เพื่อให้สุขภาพที่ดีอยู่กับเราไปนานๆ