โรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กในช่วงระยะเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมาพบว่า อุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย
โรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ โรคหืด โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง การรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นอกจากการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และการรักษาด้วยยาแล้ว ในปัจจุบันมีการรักษาอีกทางเลือกหนึ่งคือ การให้วัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งพบว่าสามารถลดอาการภูมิแพ้ ลดการใช้ยา และช่วย เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้
การให้วัคซีนภูมิแพ้คือ การให้สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าไปในร่างกาย เริ่มจากปริมาณน้อย และปรับเพิ่มปริมาณขึ้นจนถึงขนาดที่ใช้ในการรักษา โดยให้ซ้ำๆอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ลดลง และร่างกายทนต่อสารก่อภูมิแพ้ได้ดีขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการหรือปฏิกิริยาภูมิแพ้ลดลง เมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น
การให้วัคซีนภูมิแพ้ในปัจจุบันนิยมให้ 2 วิธีคือ
- การฉีดวัคซีนภูมิแพ้เข้าใต้ผิวหนัง
- การอมวัคซีนภูมิแพ้ใต้ลิ้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันประสิทธิภาพของการให้วัคซีนภูมิ แพ้ในการรักษาผู้ป่วยที่แพ้อาหาร ดังนั้น จึงพิจารณาให้วัคซีนภูมิแพ้แก่ผู้ป่วยดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหืด และโรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ร่วมกับมีลักษณะ ดังนี้ ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ยาเป็นระยะเวลานาน และลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ยา
- ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่มีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ
- ผู้ป่วยแพ้แมลงในกลุ่มผึ้ง ต่อ แตน ที่มีปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกาย
วิธีการให้วัคซีนภูมิแพ้แบ่งเป็น 2 ระยะคือ
- ระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่เริ่มต้นให้วัคซีนภูมิแพ้ โดยเริ่มจากให้วัคซีนภูมิแพ้ขนาดความเข้มข้นต่ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และปรับเพิ่มขนาดความเข้มข้นขึ้นจนถึงขนาดที่ใช้ในการรักษา
- ระยะคงที่ เป็นระยะที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีนภูมิแพ้ในขนาด ที่เหมาะสม และก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาโรค โดยผู้ป่วยจะได้รับวัคซีนภูมิแพ้ทุก 2-4 สัปดาห์ เป็นระยะเวลา นาน 3-5 ปี และติดตามประเมินอาการเป็นระยะ
ผลข้างเคียงจากการให้วัคซีนภูมิแพ้เกิดได้ 2 แบบคือ
- ปฏิกิริยาแพ้เฉพาะที่ ได้แก่ อาการบวม แดง คันรอบๆบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- ปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกาย ได้แก่ ผื่นลมพิษ แน่นหน้าอก หรือความดันเลือดต่ำลง โดยอัตราการเกิดปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกายขึ้นอยู่กับวิธีการให้วัคซีนและอัตราเร็วในการปรับเพิ่มขนาดความเข้มข้น ของวัคซีน โดยการให้วัคซีนชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังจะมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกายมากกว่าการให้วัคซีนชนิดอมใต้ลิ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุขโดย ผศ.พญ.จิตติมา เวศกิจกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล