วัณโรค คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อมัยโคแบคทีเรีย ซึ่งโดยปกติเป็นเชื้อที่มีชื่อว่า Mycobacterium tuberculosis แต่อาจจะเกิดจากมัยโคแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ เรียกว่า Nontuberculous mycobacteria (NTM) ทั้งหมดเป็นเชื้อโรคในกลุ่มแบคทีเรีย ติดต่อจากคนสู่คน แต่มีบางชนิดติดต่อจากสิ่งแวดล้อมสู่คนได้
การติดต่อ
ลักษณะการติดต่อของเชื้อวัณโรคจะติดต่อกันจากทางเดินหายใจ แบบหยดอากาศหรือละอองฝอยขนาดใหญ่ (Air droplet) ซึ่งติดต่อกันทางการไอจามในระยะไม่เกิน 1-2 เมตร ละอองเชื้อโรคจะตกสู่พื้นเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยฟุ้งลอยอยู่ในอากาศ เชื้อสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นสัปดาห์ในสภาวะอาการศที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามตนเราสามารถติดวัณโรคในช่องทางอื่นๆ ได้เช่น ทางการกินเชื้อโรคเข้าสู่ทางเดินอาหาร และติดจากบาดแผลเข้าสู่ผิวหนัง
ในปกติเมื่อร่างกายได้รับเชื้อวัณโรค ร่างกายจะมีระบบภูมิคุ้มกัน สามารถต้านทานวัณโรคได้ในระดับหนึ่ง โดยเมื่อได้รับเชื้อแล้ว (Exposed tuberculosis) ประมาณ 60-70% จะไม่ติดเชื้อ มีแต่ 30% โดยประมาณที่เชื้อจะอยู่ในร่างกายได้ (TB infection) แต่เมื่ออยู่ในร่างกายแล้ว มีโอกาสเพียง 10% ที่เชื้อจะก่อโรคขึ้นมาในอวัยวะต่างๆ (Active tuberculosis) ที่เหลือ 20-30% เป็นการติดเชื้อวัณโรคแฝง โดยไม่เกิดผลต่อร่างกาย (Latent tuberculosis infection)
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรค ได้แก่
- ระยะเวลาการสัมผัสโรค และความใกล้ชิดในการสัมผัสโรค
- โรคหรือภาวะร่วมที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ได้แก่ เบาหวานที่ควบคุมไม่ดี โรคพิษสุราเรื้อรัง เอดส์ ไตวายที่ต้องฟอกไต มะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โรคที่ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
- สภาพร่างกาย ความแข็งแรงของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี ได้แก่ เด็กเล็กต่ำกว่า 6 ปี และผู้สูงอายุ
อาการของวัณโรค
มีได้หลากหลาย เมื่อนึกถึงวัณโรค เราจะนึกถึงอาการที่พบบ่อย ๆ คือ อาการไอเรื้อรัง ในที่นี้ หมายถึงอาการไอที่เป็นมากกว่า 8 สัปดาห์ขึ้นไป โดยอาการไอเป็นไปได้ทุกรูปแบบ ทั้งไอแห้ง ๆ ไอมีเสมหะ หรือไอเป็นเลือด แต่อาการหลัก 3 อย่างที่เมื่อมีครบแล้ว ควรนึกถึงวัณโรคเป็นอย่างยิ่ง คือ ไข้เรื้อรัง เหงื่อออกกลางคืน และ น้ำหนักลด
เนื่องจากวัณโรคเกิดได้หลายอวัยวะในร่างกาย ดังนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีอาการเฉพาะระบบทางเดินหายใจเสมอไป อาการของวัณโรคจะแตกต่างไปในแต่ละอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น
- ระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการไอเรื้อรัง ไอเสมหะปนเลือดเป็นบางครั้ง หรือบางคนไอมีเลือดออกปริมาณมาก นอกจากนี้แล้วยังมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ออกแรงแล้วเหนื่อย เจ็บชายโครงเวลาหายใจ
- ระบบประสาทส่วนกลาง มาด้วยอาการปวดหัว ไปจนถึงระดับการรู้สึกตัวเปลี่ยนไป ซึม ปลุกไม่ตื่น หรือมาด้วยอาการโคม่า เรียกไม่ตอบสนอง
- ระบบไหลเวียนโลหิต มักเกิดจากช่องเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ทำให้มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ติดเชื้อมาด้วยอาการเหนื่อยง่าย จนถึงขั้นที่หัวใจวายได้
- ระบบต่อมน้ำเหลือง คลำพบต่อมน้ำเหลืองโตตามจุดต่างๆ เช่นที่คอ รักแร้ และขาหนีบ
- ระบบทางเดินอาหาร มาด้วยอาการปวดท้องเนื่องจากวัณโรคไปทำให้ต่อมน้ำเหลืองรอบๆ ลำไส้โตขึ้น หรือทำให้ลำไส้เล็กส่วนปลาย และลำไส้ใหญ่อักเสบ
- ระบบโครงสร้างร่างกาย มักจะไปติดเชื้อในกระดูก ส่วนใหญ่แล้วมาด้วยเรื่องของกระดูกหักที่ไม่สัมพันธ์กับอุบัติเหตุ เช่นกระดูกสันหลังหัก หรืออาจทำให้ปวดบริเวณกระดูกที่ติดเชื้อ
- ผิวหนัง มีแผลเรื้อรังที่ผิวหนังรักษาไม่หาย มักมีประวัติสัมผัสกับแหล่งของวัณโรคเช่นเป็นแผล
- ดวงตา ทำให้ม่านตาอักเสบ การมองเห็นไม่ชัดเจน
- ระบบทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อเรื้อรัง รักษาด้วยยาฆ่าเชื้อปกติแล้วไม่หายขาด
การรักษา
ปัจจุบันวัณโรครักษาสามารถรักษาหายได้
- เพราะยารักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพสูง
- ใช้เวลาในการรักษา 6-8 เดือน
- กินยาอย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเอง
- หากมีอาการแพ้ยา ควรรีบปรึกษาแพทย์
นพ. ขวัญชัย ประสิทธิ์วุฒิเวชช์
อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจ ประจำโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต