การใช้ยาถึงแม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ยาอย่างผิดวิธี ทำให้ส่งผลเสียต่อการรักษาและรวมไปถึงสุขภาพของผู้ใช้ยา บางครั้งผู้ใช้ยาอาจละเลยที่จะอ่านวันหมดอายุซึ่งจริงๆ แล้วการอ่านวันหมดอายุเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งและมีประโยชน์เป็นอย่างมาก

040162-3a-02

 

วันหมดอายุหรือวันสิ้นอายุของยาสำคัญอย่างไร?

วันหมดอายุหรือวันสิ้นอายุของยา คือวันที่กำหนดอายุการใช้ยาสำหรับยาที่ผลิตในแต่ละครั้ง เพื่อแสดงว่ายาดังกล่าวมีคุณภาพมาตรฐานตามข้อกำหนดตลอดช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันสิ้นอายุของยา

ประชาชนในฐานะผู้บริโภคจึงควรทราบวิธีการสังเกตยาหมดอายุ ซึ่งจะเป็นวิธีการตรวจสอบคุณภาพยาอย่างง่ายที่ผู้ใช้ยาสามารถทำได้เอง

ข้อควรรู้พื้นฐานในการพิจารณาวันหมดอายุของยา มีดังนี้

ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต สามารถสังเกตได้จากวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เช่น ที่แผงยา ซองยา เป็นต้น กรณีที่ระบุเฉพาะเดือนและปีที่หมดอายุ วันหมดอายุจะเป็นวันสุดท้ายของเดือน
ยาแบ่งบรรจุล่วงหน้า( pre-pack) ยานำมาแบ่งบรรจุจะมีอายุการใช้งาน 1 ปี นับจากวันที่แบ่งบรรจุ
ยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้ง เนื่องจากไม่มีสารกันเสีย โดยทั่วไปหลังผสมถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้องเก็บได้ 7 วัน ถ้าเก็บในตู้เย็นเก็บได้ 14 วัน
ยาน้ำเชื่อม หลังเปิดใช้ควรเก็บไว้ไม่เกิน 1 เดือน และเก็บที่อุณหภูมิห้อง (การแช่ตู้เย็นไม่ช่วยยืดอายุยา แต่อาจทำให้ยาตกตะกอน หรือน้ำเชื่อมตกผลึก)
ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารกันเสียโดยทั่วไปจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้หากเป็นชนิดไม่เติมสารกันเสียควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน

ยาจะมีคุณภาพที่ดีจนถึงอายุยาที่กล่าวข้างต้นได้ หากอยู่ภายใต้การจัดเก็บที่เหมาะสมตามที่แนะนำโดยบริษัทผู้ผลิต แต่หากมีการจัดเก็บยาที่ไม่เหมาะสม ยาจะเสื่อมสภาพและมีคุณภาพลดลงต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้

 

บางครั้งผู้ป่วยมักจะทิ้งซองยา แล้วเอาแผงยาหลายๆชนิดมารวมไว้ในซองเดียวกัน เพราะอาจจะด้วยเหตุผลว่า ไม่อยากพกยาทีละหลายๆซอง แต่หารู้ไม่…

การกระทำดังกล่าวนำมาซึ่งปัญหาของการกินยาไม่ถูกวิธีและไม่สามารถทราบวันหมดอายุได้นะคะ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา อย่าทิ้งซองยาและควรอ่านให้ถี่ถ้วนทุกครั้งค่ะ