610213-6iron-2

หลังจากมีการแถลงข่าวผลการทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก 2 ชนิด ได้แก่ แคดเมียม และ ตะกั่ว ใน ช็อกโกแลตชื่อดัง 19 ตัวอย่าง ซึ่งพบว่ามีเพียงตัวอย่างเดียวที่ไม่พบตะกั่วและแคดเมียมเลย ในขณะที่อีก 18 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของตะกั่วและ/หรือแคดเมียม ถึงแม้จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานตะกั่ว ส่วนสารแคดเมียมยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานการปนเปื้อนในประเทศไทย ก็ตาม

แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้บริโภคไม่น้อย เพราะการได้รับสารตะกั่วและสารแคดเมียม ในระยะยาวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และแคดเมียมยังเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์อีกด้วย ในความเป็นจริงแล้วปัญหาโลหะหนักปนเปื้อนในอาหารเริ่มมีมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีการขุดโลหะต่าง ๆ จากพื้นดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ จึงทำให้เกิดมีโลหะหนักปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ทั้งในดิน ในน้ำ และในอากาศ ซึ่งเมื่อพืชดูดสารอาหารจากดินที่ปนเปื้อนเข้าไป โลหะหนักจึงถูกดูดเข้าไปอยู่ในพืช รวมถึงผลผลิตที่มาจากพืชด้วย ถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง ที่หลายประเทศพยายามแก้ไข

โลหะหนัก คือ ธาตุที่มีคุณสมบัติความเป็นโลหะ มีความหนาแน่นสูง เป็นธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ นอกจากตะกั่ว และ แคดเมียมแล้ว เรายังพบสารหนูปนเปื้อนในปุ๋ย, พบปรอท ในอาหารทะเล ถึงขนาดที่ในต่างประเทศแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการรับประทานปลาทูน่า ที่พบว่ามีสารปรอทปนเปื้อนในปริมาณที่สูง เป็นต้น

ปัญหาพิษจากโลหะหนักในปัจจุบัน ไม่ใช่ พิษอย่างเฉียบพลันที่ต้องได้รับสารโลหะหนักในปริมาณที่มาก แต่เกิดจากการได้รับทีละน้อยแต่สะสมในร่างกายไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยพบว่า การมีสารโลหะหนักแม้ในปริมาณน้อย แต่โลหะหนักจะเข้าไปแย่งแร่ธาตุในร่างกายจับกับเอนไซม์ต่าง ๆ เกิดภาวะเอนไซม์ไม่ทำงาน ระบบร่างกายหยุดชะงัก, โลหะหนักเป็นพิษต่อผนังเซลล์ ทำให้เกิดความผิดปกติในการแบ่งตัวของเซลล์, และโลหะหนักเป็นสารอนุมูลอิสระที่รุนแรง ก่อให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด และเกิดลิ่มเลือดอุดตันตามมาได้

แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาโลหะหนักต้องเริ่มตั้งแต่ระดับนโยบาย ออกกฎหมายเพื่อลดการปนเปื้อนของโลหะหนักในสิ่งแวดล้อม แต่ในเมื่อขณะนี้เรายังต้องเผชิญกับปัญหาโลหะหนักปนเปื้อน เราจึงควรเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองเพื่อลดความอันตรายจากการสะสมโลหะหนักในร่างกาย เช่น

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย และอุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ ที่มีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบที่เสื่อมสภาพแล้ว
  • ควรปรับนิสัยการรับประทานอาหารให้หลากหลาย อย่ารับประทานอาหารซ้ำๆ เป็นประจำ เพราะมี โอกาสได้รับโลหะหนักชนิดเดิมสะสมปริมาณมากในร่างกาย แม้แต่ผัก และผลไม้ ก็ควรหมุนเวียนรับประทานเช่นกัน
  • แนะนำให้ตรวจระดับสารโลหะหนักในร่างกายเป็นประจำทุกปี ถ้าพบปริมาณที่เกินเกณฑ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขับออกอย่างเหมาะสม