อัมพาตครึ่งซีก
อัมพาตครึ่งซีก หายได้ไหม เป็นคำถามที่พบบ่อยของผู้ป่วยเวลาติดตามอาการ พร้อมส่งสายตาวิ๊งๆเผื่อคุณหมอจะให้คำตอบแห่งความหวัง แน่นอนสิ่งที่ทุกคนต้องการคือ หายทุกอย่างเหมือนปกติเดิมก่อนป่วยนั่นแหละ แต่สำหรับหมอ การหายไม่ได้เป็นแบบนั้นแม้ว่าอยากให้เป็นแบบนั้นทุกเคสก็เถอะ
การฟื้นตัวของสมองจากหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน จะพัฒนาสูงสุดเป็นกราฟสูงชันคือช่วงหนึ่งเดือนแรก และหลังจากนั้นจะช้าลงและเกือบจะเป็นเส้นตรงในเดือนที่หก ดังนั้นหนึ่งเดือนแรกนี้แพทย์จะเน้นการการรักษาประคับประคองเพื่อสนับสนุนต่อการฟื้นตัวให้ได้มากที่สุด ได้แก่ รักษาสมดุลน้ำอาหารให้เพียงพอ ภาวะที่ผู้ป่วยขาดน้ำอาจกระตุ้นให้หลอดเลือดสมองแย่ลงขณะเดียวกันถ้าผู้ป่วยดื่มน้ำมากไปจนมีภาวะน้ำท่วมปอด หัวใจก็ทำงานหนักซึ่งก็จะมีผลต่อสมองเช่นเดียวกัน ควบคุมระดับน้ำตาลในเหมาะสม ดูแลความดันโลหิตไม่ให้ต่ำหรือสูงจนเป็นอันตราย ทำกายภาพบำบัด ฝึกการเคลื่อนไหว การใช้อุปกรณ์ที่ทำให้การเคลื่อนไหวคล่องขึ้น ลดความเสี่ยงเรื่องการหกล้ม สร้างกำลังใจ เรื่องกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าผู้ป่วยใจห่อเหี่ยวสิ้นหวัง ความรู้สึกอยากขยับก็น้อยลง กินน้อยลง ซึ่งแน่นอนปัญหาต้นทางก็ไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น
เรื่องล้มเป็นเรื่องสำคัญ การล้มของผู้สูงอายุสิ่งที่เรากลัวไม่ใช่เรื่องฟกช้ำ บวมปูดทั่วไป แต่คือกระดูกหัก โดยเฉพาะกระดูกสะโพก ซึ่งนั่นผู้ป่วยต้องกลับมานอนโรงพยาบาลอีกนาน ต้องนอนนิ่งๆเพื่อยึดขากับเครื่องโยงถ่วงน้ำหนักเพื่อรักษาแนวกระดูก ตามด้วยการผ่าตัดและกายภาพต่างๆ การนอนนิ่งนานๆเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อซ้ำซ้อนไม่ว่าทางเดินปัสสาวะ หรือทางเดินหายใจ
การหายของหลอดเลือดสมองเราจะแบ่งเป็น 7 ระดับ ตรงกับศัพท์แพทย์คือ Modified Rankin Scale หรือตัวย่อๆว่า mRS มีตัวเลข 0-6
- 0 คือ เหมือนปกติ สามารถทำงาน ใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนไม่เคยป่วยมาก่อน เป็นเป้าหมายที่ทั้งแพทย์และผู้ป่วยทุกคนคาดหวัง
- 1 คือ มีติดขัดอยู่บ้าง มีอ่อนแรงหรือชาอยู่เล็กน้อย แต่สามารถเดินหรือทำกิจกรรมได้ปกติ สามารถหารายได้เองได้ เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว
- 2 คือ มีอ่อนแรง หรือติดขัดอยู่ระดับหนึ่ง มีข้อจำกัดการใช้ชีวิตบางส่วนแต่ช่วยเหลือตัวเองได้เป็นส่วนใหญ่ เดินเองได้มั่นคง ผู้ป่วยบางรายเมื่อปรับลักษณะงานเหมาะสมก็สามารถกลับทำงาน สร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัว ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่แพทย์คาดหวัง
- 3 คือ เดินได้เองไม่ต้องมีคนช่วย อาจใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ไม้เท้าบ้าง สามารถทำอะไรเล็กๆน้อยได้บ้างซึ่งอาจต้องมีคนช่วยในบางสถานการณ์ เช่น ซื้อของจ่ายตลาด
- 4 คือ ไม่สามารถเดินเองได้ ต้องมีคนช่วยเหลือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางรายแม้เดินไม่ได้ แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บนเตียงหรือรถเข็น ตักอาหารกินเองได้เมื่อญาติเตรียมไว้ให้
- 5 คือ นอนติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนดูแลต่อเนื่อง
- 6 คือ เสียชีวิต
ระดับเลขการหายเป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งตำแหน่งรอยโรคสมอง หลอดเลือดใหญ่เล็กที่อุดตัน หลอดเลือดใหญ่ย่อมสร้างความเสียหายต่อสมองมากกว่า อายุ สภาวะหลอดเลือดพื้นฐาน โรคประจำตัว ถ้าผู้ป่วยเคยเป็นหลอดเลือดสมองหลายครั้งการฟื้นตัวจะยากขึ้น และมีโอกาสที่ไม่กลับมาเท่าเดิมมากกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องระยะเวลาที่เริ่มมีอาการจนมาถึงโรงพยาบาล ฯลฯ
ในระบบสาธารณสุขไทยทั้งภาครัฐและเอกชน มีระบบฉุกเฉินที่เรียกว่า Stroke Fast Track ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดสื่อสารไม่รู้เรื่องและมาในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง จะจัดเป็นภาวะที่ควรรักษาอย่างเร่งด่วน ครอบคลุมสิทธิ์การให้ยาละลายลิ่มเลือด rtPA ซึ่งจะมีผลเพิ่มโอกาสการฟื้นให้หายในระดับ 0-2 ได้มากขึ้น
สุดท้ายการหายระดับไหนก็ไม่สู้ใจ หลายคนหายระดับ 0-1 สีหน้าดูเป็นทุกข์ หน้านิ่วคิ้วขมวดตลอดเวลา บางรายอยู่ระดับ 3 เกือบ 4 ดูเป็นสุขให้สัมผัสได้ ยิ้มได้ อดีตผ่านไปมันก็กลายเป็นอดีตตามเวลา จงอยู่กับปัจจุบัน ค้นหาสิ่งมีค่า เก็บเกี่ยวมันไว้ มัวเอาปัจจุบันไปใช้กับอดีต โหยหวนโทษนั่นนี่ ระวังขาดทุนความสุขนะ