โรคหัวใจ – อวัยวะที่เรียกว่า “หัวใจ” เป็นเหมือนศูนย์กลางควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายให้ทำงานต่อไปได้ ดังนั้นเราควรต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนที่อาจทำให้คุณเสียชีวิตได้

อาการที่เป็นสัญญาณเตือนของ โรคหัวใจ

  • เจ็บหน้าอกหรือรู้สึกแน่นหน้าอก
  • มีเหงื่อออก
  • มีอาการปวดร้าว ตั้งแต่บริเวณ กราม คอ หลัง และลามไปแขนข้างซ้ายหรือขวาก็ได้
  • รู้สึกหอบเหนื่อย
  • ใจสั่น
  • หายใจลำบาก
  • คลื่นไส้ อาเจียน จุกใต้ลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน

โดยในหลายๆครั้ง อาการเหล่านี้ แทบจะแยกจากโรคอื่นๆ ซึ่งอาจมีอาการคล้ายกันได้ลำบาก เช่น
อาจทำให้สับสนกับโรคกรดไหลย้อน หรือกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบได้ ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจหากมีอาการดังกล่าว

การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

  1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ อัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  2. การตรวจเลือด หากตรวจพบว่ามีโปรตีนเจือปนในเลือดมากเท่าใด ก็บ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
  3. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่คล้ายเครื่องอัลตราซาวด์ตรวจบริเวณหน้าอก และใช้เสียงสะท้อนความถี่สูงเพื่อจำลองภาพ ขนาด และการทำงานของหัวใจ
  4. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก
  5. การใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) ด้วยการฉีดสารทึบสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ เอกซเรย์ดูว่ามีส่วนใดของหลอดเลือดอุดตันหรือตีบบางหรือไม่

การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

  1. การรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรง ได้แก่ การให้ยาสลายลิ่มเลือด เพื่อละลายลิ่มเลือดที่ปิดกั้นหลอดเลือด ทั้งนี้หากผู้ป่วยได้รับยาชนิดนี้ภายในระยะเวลาไม่นานตั้งแต่เริ่มเกิดอาการ การให้ยาต้านเกล็ดเลือด ที่ใช้ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และป้องกันไม่ให้ ลิ่มใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และยาเพื่อช่วยลดอาการเจ็บหน้าอก ลดการทำงานของหัวใจ ช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น
  2. การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน จะช่วยดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น
  3. การผ่าตัดบายพาสหัวใจ เป็นการผ่าตัดเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ เพื่อทำทางเบี่ยงให้หลอดเลือดบริเวณที่มีการตีบหรือตัน ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านได้ ส่งผลทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น