เมื่อพูดถึงเด็ก สมาธิสั้น สิ่งที่ผู้ปกครองหรือบุคคลทั่วๆไปสังเกตได้ ก็คือเด็กเล่นอะไรได้ไม่นาน มีอาการอยู่ไม่นิ่ง ซุกซน งุนงันพลันแล่นแต่ไม่ใช่เด็กซุกซนทุกคนจะเป็นโรคสมาธิสั้น เราจะแยกเด็กซนปกติทั่วไป กับเด็กที่มีอาการสมาธิสั้นได้อย่างไร
โรคสมาธิสั้น คือกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง อาการของโรคสมาธิสั้น แยกเป็น2กลุ่มอาการคือ กลุ่มอาการขาดสมาธิ และ กลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่งหุนหันพลันแล่น ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการของเด็กเบื้องต้นได้ ตามเกณฑ์ของ DSM-V โดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกา
กลุ่มอาการขาดสมาธิ ได้แก่
- มักจะขาดความรอบคอบ
- ไม่มีสมาธิในการเล่นหรือทำงาน
- ไม่สนใจฟังเวลาพูดด้วย
- ไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จได้ หรือทำงานผิดพลาดบ่อยๆ
- ไม่มีความเป็นระเบียบ
- พยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความพยายาม หรือใช้สมาธิ
- วอกแวกตามสิ่งเร้าได้ง่าย
- ทำของหายบ่อย
- ลืมเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันบ่อยๆ
กลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่งหุนหันพลันแล่น ได้แก่
- ยุกยิก อยู่ไม่นิ่ง ขยับมือขยับเท้าบ่อยๆ
- นั่งไม่ติด มักลุกเดินไปมาบ่อยๆ
- ชอบวิ่ง ปีนป่ายโดยไม่สนใจสถานที่หรือกาละเทศะ
- พูดไม่หยุด
- เล่นเสียงดัง ไม่สามารถทำกิจกรรมเงียบๆได้
- เคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่เฉย
- มักชิงตอบคำถามก่อนโดยที่ผู้ถามยังถามไม่จบ
- ไม่ชอบการรอคอย
- ชอบแย่งของเล่นเพื่อน ชอบพูดแทรกหรือขัดจังหวะคนอื่น
จะต้องมีอาการดังกล่าวนี้อย่างน้อย 6 ข้อขึ้นไป เป็นเวลานานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน