อาการใจสั่น เป็นอาการที่พบได้ เกิดจากหัวใจเต้นแรง เต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะไม่สม่ำเสมอ ทำให้เราสามารถรู้สึกได้ อาจมีอาการร่วมเช่นเวียนศีรษะ หน้ามืด จะเป็นลม ปกติหัวใจเต้นอยู่ที่ 60 – 100 ครั้งต่อนาที

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการใจสั่นมีอะไรได้บ้าง

  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีหลายชนิด มีความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนต่างกัน โรคหัวใจขาดเลือด โรคห้องหัวใจหนา โรคหัวใจโต
  • โรคไทรอยด์เป็นพิษ ทำให้มีอาการใจสั่นได้ เนื่องจากหัวใจเต้นเร็วเกินไป
  • การออกกำลังกาย ในการออกกำลังกายอย่างหนักจะทำให้หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้นทำให้เรารู้สึกได้
  • ยาหรือสารบางชนิด เช่นการทานยาบางตัวทำให้เกิดอาการใจสั่นขึ้นได้ สารบางชนิดเช่นคาเฟอีนจากชากาแฟในบางคนอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้นได้หรือยาเสพติดทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น
  • ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ก็จะทำให้รู้สึกหวิวๆเหมือนใจสั่นได้
  • การมีไข้ ติดเชื้อ ทำให้หัวใจสูบฉีดแรงและเร็วขึ้นได้
  • ภาวะเครียด กังวล ก็สามารถทำให้รู้สึกว่าใจสั่นได้แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก

 

การวินิจฉัยโรค แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ถามถึงยาและสารต่างๆที่ใช้อยู่ อาจส่งตรวจเพิ่มเติม

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • การติดเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบต่อเนื่อง (holter)
  • การวิ่งสายพาน
  • การตรวจเลือด เช่น ไทรอยด์ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ระดับเกลือแร่
  • เอกซเรย์ปอด
  • การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ
  • การใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าแบบพกพาเวลามีอาการ เนื่องจากในบางครั้ง ไม่ได้เกิดอาการขึ้นตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถจับความผิดปกติเวลามาตรวจได้

 

การรักษา การรักษาใจสั่นจะรักษาตามสาเหตุการเกิดโรคนั้น ๆ เช่น

  • กรณีที่เกิดจากโรคหัวใจก็อาจใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ หรือการจี้ไฟฟ้ารักษา การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจหรือการช็อตไฟฟ้าหัวใจ
  • กรณีเกิดจากยาก็ควรหยุดหรือเปลี่ยนยา
  • กรณีเกิดจากคาเฟอีน ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน
  • กรณีเกิดจากความเครียด ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเครียดหรือพบจิตแพทย์

 

ถ้าท่านมีอาการใจสั่น เป็นบ่อย รุนแรง ร่วมกับมีอาการหน้ามืด จะเป็นลม เจ็บแน่นหน้าอกหรือมีโรคหัวใจอยู่เดิม ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

 

ด้วยความปรารถนาดี

พญ. พันธิตรา ศิริปัญจนะ อายุรแพทย์โรคไต 

โรงพยาบาลจุฬารัตน์9 แอร์พอร์ต