ภาวะ ไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) หรือเรียกอีกชื่อว่า ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ โดยฮอร์โมนไทรอยด์นั้นมีผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย จึงเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเกือบทุกส่วน ที่สำคัญ เช่น การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การหายใจ การเต้นของหัวใจ น้ำหนักตัว อารมณ์ ฯลฯ

หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษแล้วไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อหัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ รอบเดือน และระบบสืบพันธุ์ได้

อาการของไทรอยด์เป็นพิษ

อาการของภาวะไทรอยด์เป็นพิษอาจแตกต่างกัน มีดังต่อไปนี้

  • น้ำหนักตัวลด
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • จังหวะไม่สม่ำเสมอ ใจสั่น
  • อารมณ์แปรปรวน กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย
  • อ่อนเพลีย
  • มีอาการสั่น โดยเฉพาะมือ
  • ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย หรือท้องเสีย
  • ต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอบวม หรือโตขึ้น
  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง

การวินิจฉัยไทรอยด์เป็นพิษ

จากการตรวจร่างกาย สอบถามอาการ และตรวจสอบประวัติการรักษา รวมทั้งวินิจฉัยเพิ่มเติมจากการตรวจเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid function test) และการทำ Ultrasound ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

การรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

  • กินยา กินยาต้านไทรอยด์ซึ่งจะช่วยให้อาการต่างๆ ที่เกิดจากการเผาผลาญในร่างกายที่สูงเกินไปหายไป เช่น อาการใจสั่น เหนื่อย น้ำหนักลด เป็นต้น
  • กินไอโอดีน-131 เป็นกระบวนการที่ทำให้มีการปล่อยกัมมันตรังสีสามารถทำให้ต่อมไทรอยด์ที่ถูกทำลายจะมีขนาดเล็กลง และอาการต่อมไทรอยด์เป็นพิษจะค่อยๆ ดีขึ้น
  • การผ่าตัด จะทำการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ที่เป็นพิษออกไปบางส่วนเพื่อทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลง จะได้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาน้อยลง วิธีนี้ช่วยให้อาการต่างๆ หายไปอย่างรวดเร็ว