1. อาการเจ็บเต้านมที่สัมพันธ์กับประจําเดือน
เป็นอาการเจ็บเต้านมที่พบในผู้หญิงได้มากที่สุด มักเกิดขึ้นในช่วงไข่ตกหรือช่วงมีประจำเดือนของทุก ๆ เดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเทอโรนในร่างกาย โดยจะมีอาการในช่วงก่อนมีประจำเดือน และค่อย ๆ ลดลงเมื่อประจำเดือนรอบนั้นหมด รวมเวลานานเป็น7-10 วัน หรือปวดระหว่างรอบเดือนในช่วงไข่ตกไม่กี่วัน ปวดแบบตื้อ ๆ หนัก ๆ หรือปวดร้าวไปบริเวณแขนหรือรักแร้ เต้านมบวม แข็งเป็นก้อนได้ มักเกิดกับเต้านมทั้ง 2 ข้าง ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงอายุประมาณ 20-30 ปี และอาจพบได้น้อยลงในช่วงเกิน 40 ปี เนื่องจากใกล้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน อีกช่วงที่หญิงวัยเจริญพันธุ์จะมีประสบการณ์ในการเจ็บเต้าได้ คือ ช่วงตั้งครรภ์ และช่วงให้นมบุตร ซึ่งเกี่ยวข้องกันฮอร์โมนเช่นกัน
2. อาการเจ็บเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจําเดือน
เป็นอาการปวดที่ไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน ส่วนใหญ่จะปวดเฉพาะบางจุดของเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือใกล้หมดประจำเดือน
สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
# ก้อนหรือถุงน้ำในเต้านม ซึ่งมีบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการเจ็บเต้านมตามมา เช่น ชนิดไฟโบรซีสติค (Fibrocystic) เป็นก้อนเนื้อที่ไม่ร้ายแรงและมักไม่กลายเป็นมะเร็ง โดยพบได้บ่อยในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ส่วนอีกชนิด คือ ไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง มีลักษณะผิวเรียบ คลำแล้วโยกก้อนให้เคลื่อนไปมาได้ โดยพบในผู้หญิงที่อายุน้อยหรืออยู่ในวัยเจริญพันธุ์
# ภาวะเต้านมอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อของท่อน้ำนม โดยพบบ่อยในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะมักจะเกิดบาดแผลขณะให้นมและมีการติดเชื้อตามมา ทำให้เนื้อเยื่อเต้านมอักเสบ บวม แดง เจ็บเต้านมอย่างรุนแรง ผิวบริเวณเต้านมแตก มีอาการคัน หรือเป็นแผลที่หัวนม
# ฝีที่เต้านม เกิดจากการติดเชื้อที่เต้านมจนมีอาการบวม แดง และลุกลามกลายเป็นแผลมีหนอง มีอาการปวดและเจ็บเต้านม ซึ่งส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากภาวะเต้านมอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาแล้วไม่ดีขึ้น
# การบาดเจ็บบริเวณใกล้เคียงเต้านม เมื่อเกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือเนื้อเยื่อใกล้กับเต้านมอาจกระทบโดนเส้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณหน้าอก จึงทำให้รู้สึกคล้ายอาการปวดเต้านมตามไปด้วย เช่น การบาดเจ็บที่คอ หัวไหล่ หรือหลัง กระดูกอ่อนบริเวณหน้าอกอักเสบ (Costochondritis)
# การสวมชุดชั้นในที่ไม่เหมาะสม เช่น คับแน่นไป หรือหลวมไป ก็ส่งผลให้เกิดการได้รับบาดเจ็บที่เต้านมได้เช่นกัน
# ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาต้านเศร้า ยารักษาโรคหัวใจ การได้รับฮอร์โมนในรูปแบบยาคุมกำเนิด การรับฮอร์โมนทดแทน การรับฮอร์โมนในการช่วยเจริญพันธุ์ในคลินิกมีบุตรยาก
สาเหตุอื่นๆ เช่น แผลหลังการผ่าตัดเต้านม หน้าอกมีขนาดใหญ่กว่าปกติ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารไขมันสูง
บางรายที่มีอาการเจ็บเต้านมไม่ชัดเจน เป็นลักษณะแน่นหน้าอก ชาตามแขนขา เจ็บเสียวตามมาหลังอาการเจ็บเต้านม ให้ระวังตระหนักไว้ว่าอาจจะเป็นสัญญาณของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ต้องรีบไปพบแพทย์หรือเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินทันที
จะเห็นได้ว่ามะเร็งเต้านม ไม่ได้มีอาการเจ็บเต้านม เป็นอาการแรก ถ้ามีอาการเจ็บแสดงว่าเป็นมากแล้วจนมีอาการติดเชื้ออักเสบซ้ำซ้อน
การวินิจฉัยอาการเจ็บเต้านม แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจพิเศษอื่นๆ
การตรวจบริเวณหน้าอกรวมทั้งเต้านม เพื่อระบุตำแหน่งที่เจ็บ ว่าเป็นส่วนเต้านม, กระดูกซี่โครง, กระดูกอ่อนหน้าอก
การตรวจเต้านม แพทย์จะตรวจดูขนาดและรูปร่างของเต้านมว่าผิดปกติหรือไม่ จากนั้นจึงคลำหาก้อนบริเวณเต้านม ใต้รักแร้ คอส่วนล่าง รวมไปถึงมีการตรวจอวัยวะใกล้เคียงอื่น ๆ เช่น การเต้นของหัวใจ ตรวจปอด หน้าอก หรือช่องท้องที่อาจทำให้เกิดอาการปวดที่เต้านม หากประวัติทางการแพทย์ ผลการตรวจเต้านม และการตรวจร่างกายทั่วไปไม่พบความผิดปกติ อาจไม่ต้องมีการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม
การตรวจพิเศษ
การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการถ่ายภาพรังสีของเนื้อเยื่อเต้านม แพทย์จะส่งตรวจในกรณีที่คลำพบก้อนหรือพบ เนื้อเต้านมที่ขนาดหนาผิดปกติ
การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการถ่ายภาพของเนื้อเยื่อเต้านมในจุดที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง โดยมักใช้กรณีสงสัยเป็นถุงน้ำ
การตรวจเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) การตรวจเนื้อเยื่อเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้อที่พบว่าจะเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือไม่
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ (Breast Biopsy) เป็นการนำตัวอย่างของก้อนเนื้อหรือเนื้อเยื่อเต้านมที่หนาตัวผิดปกติออกมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ
อาการเจ็บเต้านมถึงแม้จะส่วนใหญ่จะเป็นอาการสัมพันธ์กับฮอร์โมนในผู้หญิงซึ่งไม่อันตราย แต่ถ้าอาการเจ็บนั้นนานเกิน 2 สัปดาห์, ปวดรุนแรงมากจะใช้ชีวิตประจำวันลำบาก หรือมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น คลำพบก้อน เต้านมรูปร่างลักษณะเปลี่ยนไป มีของเหลวไหล/เลือดออกจากหัวนม ผิวหนังเต้านมมีรอยย่นคล้ายผิวส้ม มีรอยบุ๋ม ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นมะเร็งได้ ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัย รักษาได้อย่างทันท่วงที และวิธีที่จะช่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ง่ายสะดวก ก็ คือ การคลำเต้านม ด้วยตัวเอง อย่างสม่ำเสมอ