เตรียมตัวรับมือกับโรคที่มากับฤดูหนาวนี้
เพราะ ฤดูหนาว เป็นช่วงที่อากาศเย็นลงอย่างมาก ๆ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทำให้ป่วยง่าย นอกจากนี้สภาพอากาศที่เย็นยังเอื้อต่อการแพร่กระจายของไวรัสมากที่สุด ดังนั้นเป็นอีกหนึ่งฤดูที่เราต้องเตรียมตัวรับมือ และดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคเหล่านี้มากที่สุด
ปอดบวม
เป็นภาวะปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีหนองและสารปนเปื้อนภายในถุงลม มักจะมีอาการ ไอ จาม มีเสมหะ แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก คัดจมูก หนาวสั่น มักพบหลังจากการเป็นไข้หวัดเรื้อรัง และในผู้ป่วยโรคหอบหืด
ป้องกันอย่างไรดี
- หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ หรือควันไฟ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด
- ดูแลความอบอุ่นให้ร่างกายอยู่เสมอ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
ไข้หวัด
เรียกได้ว่าเป็นโรคพื้นฐานที่เป็นได้แทบทุกฤดูกาล แต่เมื่อฤดูหนาวมาถึงจะเป็นง่ายกว่าปกติถึง 2 เท่า เพราะไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ หลังจากนั้นจะเริ่มมีไข้ หนาวสั่น ปวดศรีษะ และปวดเมื่อยตามตัว
ป้องกันอย่างไรดี
- รับประทานอาหารให้มีประโยชน์ เช่น ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ
ไข้หวัดใหญ่
จะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดาแต่รุนแรงกว่า และหากปล่อยไว้จนมีอาการแทรกซ้อนอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ‘อินฟลูอินซา’ ทางระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน ทำให้มีอาการ หนาวสั่น ไข้ขึ้นสูง เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและศรีษะอย่างรุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
ป้องกันอย่างไรดี
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีบริการตามโรงพยาบาลทั่วไป
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ช้อนส้อม
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
อุจจาระร่วงในเด็กเล็ก
มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ‘โรต้า’ ส่วนใหญ่มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มที่พบบ่อยคือ ‘เด็กอายุ 6 – 12 เดือน’ เพราะวัยนี้ยังมีภูมิต้านทานต่ำและมักมีพฤติกรรมหยิบสิ่งของเข้าปาก อาการคือมีไข้ ถ่ายเหลวบบ่อยครั้ง และอาเจียนอย่างหนัก หรืออาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง จะถึงขั้นช็อกหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
ป้องกันอย่างไรดี
- ควรให้อาหารเหลวแก่เด็กบ่อยครั้ง
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะสะอาด ปลอดภัย และทำให้เด็กมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่าง ๆ
- ให้เด็กเล็กรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำ
- ผู้ที่ดูแลเด็กต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
โรคสุกใส
เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 10 – 20 วัน จะมีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียและปวดเมื่อยตามตัว และจะมีผื่นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับวันที่มีไข้ หรือหลังจากที่มีไข้ 1 วัน ในเริ่มแรกผื่นจะแดงราบ ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำตุ่มใส ๆ และมีอาการคัน
ป้องกันอย่างไรดี
- พักผ่อนให้เพียงพอและให้ร่างกายได้รับความอบอุ่นทีเพียงพอ
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
- ผู้ที่มีอาการคันมากอาจใช้ยาทาได้ แต่ต้องปรึกษากับแพทย์ก่อน และในเด็กควรตัดเล็บให้สั้น
ผิวหนังแห้ง
เมื่อความชื้นในอากาศลดลงความชื้นที่ผิวหนังจะลดลงด้วย ทำให้ผิวแห้ง ลอก และคัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภาวะผิวแห้งหรือต่อมไขมันทำงานลดลง และกลุ่มผู้ป่วยที่เป็น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานอาจทำให้กำเริบจนผิวหนังอักเสบได
ป้องกันอย่างไรดี
- ไม่อาบน้ำนานจนเกินไป หรือแช่น้ำอุ่นนาน ๆ
- อาบน้ำด้วยสบู่อ่อน ๆ ไม่ขัดผิว
- หลังจากอาบน้ำเสร็จควรทาโลชั่นบำรุงผิวหนังในขณะที่ผิวยังหมาด ๆ อยู่
- ทาลิปมันเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นที่ริมฝีปากด้วย