ช่วงเดือนพฤษภาคม ของทุกปีจะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลแห่งความชุ่มฉ่ำจะยาวนานไปจนถึงเดือนตุลาคม ฝนตกทีไรก็จะมีน้ำท่วมขังตามมาทุกครั้ง ซึ่งเราจำเป็นต้องมีความรู้เพื่อเตรียมตัวรับมือกับ โรคที่มาจากน้ำท่วม
เรามาดูกันเลยนะคะ โรคที่มาจากน้ำท่วม มีอะไรกันบ้าง มีสาเหตุ และอาการอย่างไร จะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคอย่างไรได้บ้าง
1.โรคผิวหนัง
โรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา หรือฮ่องกงฟุต แผลพุพองเป็นหนอง ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือเสื้อผาสกปรก มีความอับชื้น
อาการ
- ในระยะแรกมีอาการเท้าเปื่อยและเป็นหนอง
- ต่อมาเริ่มมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า และผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น
- ระยะหลังๆ ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ผิวหนังอักเสบได้
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น
- ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ และควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้แห้ง
- สวมใส่ถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น
- ถ้ามีแผลให้เช็ดรอบแผลด้วยแอลกอฮอล์ แล้วทาแผลด้วย เบตาดีน
โรคระบบทางเดินหายใจ
2.ไข้หวัด
เป็นโรคติดต่อที่ไม่อันตราย และพบได้บ่อยช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเชื้อโรคจะแพร่กระจายมาจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย
อาการ
- มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว
- มีไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกใสๆ
- ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาการ
3.ไข้หวัดใหญ่
อาการ
- มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- ปวดเมื่อยตามตัวมาก
- มีไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกใสๆ
การปฏิบัติตัว
- เวลาไอ จาม ให้ใช้ผ้าปิดปากและจมูก
- สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
- ไม่สั่งน้ำมูกแรงๆเพราะจะทำให้เกิดหูอักเสบได้
- ทานอาหารอ่อนย่อยง่าย กินผัก ผลไม้ และดื่มน้ำอุ่นเยอะๆ
- อาบน้ำแล้วเช็ดตัวให้แห้งทันที
- ปกติมักจะหายเองภายใน 1 สัปดาห์ ถ้ามีไข้สูง ไอ เจ็บคอ เจ็บหน้า นานเกิน 7 วันหรือมีอาการผิดปกติอื่นๆให้ไปพบแพทย์
4.โรคตาแดง
เป็นโรคติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกๆ อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ การติดต่อเกิดจากการสัมผัสกับน้ำตา ขี้ตา น้ำมูกของผู้ป่วย หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้กับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หรือจากแมลงวันแมลงหวี่ตอมตา
อาการ
- จะเริ่มมีการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หลังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบบวมแดง
การปฏิบัติตัว
- เมื่อมีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา ให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
- เมื่อมีอาการของโรค ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตาหรือป้ายตาป้องกันภาวะแทรกซ้อน
- หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ
- ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา
- ผูุ้ป่วยควรนอนแยกจากคนอื่นๆ และไม่ใช้สิ่งของต่างๆร่วมกันและไม่ควรไปที่มีคนมากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจาย
- ถ้ามีอาการปวดตารุนแรง ตาพร่ามัว หรืออาการไม่ทุเลาภายใน 1 สัปดาห์ต้องรีบพบแพทย์อีกครั้ง
5.โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร
ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ บิด ตับอักเสบเอ และไข้ทัยฟอยต์หรือไข้ลากสาดน้อย เชื้อจะเข้าสู่ร่างกาย โดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทิ้งค้างคืนโดยไม่ได้แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานอาหาร
อาการ
- โรคอุจจาระร่วง มีอาการถ่ายเหลว หรือถ่ายมีมูกเลือด อาจมีอาเจียนร่วมด้วย หากมีอาการรุนแรง ถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าวคราวละมาก เรียกว่า อหิวาตกโรค
- อาหารเป็นพิษ มีอาการปวดท้อง ร่วมกับถ่ายอุจจาระเหลว มีคลื่นไส้ อาเจียน อาจจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
- โรคบิด จะมีอาการถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระจะมีมูกหรือมีมูกปนเลือด มีไข้ ปวดท้องและมีอาการปวดเบ่งร่วมด้วย
- ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย มีอาการทีสำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจจะมีอาการท้องผูกหรือบางรายอาจจะมีท้องเสียได้
การปฏิบัติตัว
- ให้ดื่มน้ำหรือเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการขับถ่าย ถ้าไม่มีเกลือแร่สำเร็จรูปสามารถเตรียมเกลือแร่เองได้ โดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 750 มิลลิลิตร
- หากมีอาการมากขึ้น เช่น กินอาหารไม่ได้ มีอาเจียนตลอด ไข้สูง ซึม หรือชัก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
- เด็กที่ดื่มนมแม่ให้ดื่มต่อได้ตามปกติ พร้อมป้อนน้ำเกลือแร่บ่อยๆ
- เด็กที่ดื่มนมชง ให้ผสมนมจางลงครึ่งหนึ่งของที่เคยดื่ม และให้ดื่มสารละลายเกลือแร่สลับกันไป
- ไม่ควรกินยาเพื่อหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น
การป้องกัน
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้งก่อนเตรียมและปรุงอาหาร ก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย
- ทานอาหารสะอาดและปรุงสุกใหม่ๆ ดื่มน้ำที่สะอาด
- กำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธ์ของแมลงวัน
6.โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อ มียุงลายเป็นพาหะ เวลาฝนตกมีน้ำขังจะเป็นแหล่งเพาะพันธ์ของลูกน้ำยุงลายได้ดี ถ้ายุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัดจะทำให้เราเกิดโรคไข้เลือดออกได้
อาการ
- ไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วัน
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ตามลำตัว แขนขา
- มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและเบื่ออาหาร
- ต่อมาไข้จะเริ่มลง ในระยะนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจมีอาการรุนแรง โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระกระส่าย มือเท้าเย็น หรือมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ ไอปนเลือด อาจมีภาวะช็อคและเสียชีวิตได้
การปฏิบัติตัว
- ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
- ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวลดไข้
- ให้ยาลดไข้พาราเชตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพรินเพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
- ให้ดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ
7.โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซีส มีหนูเป็นตัวแพร่เชื้อโรค โดยเชื้อจะออกมาจากปัสสาวะของหนูแล้วจะขังอยู่ในน้ำหรือ พื้นดินที่ชื้นและแฉะ
การติดต่อ
- เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จมูก ปาก หรืออาจติดเชื้อจากการรับประทานอาหารที่หนูฉี่รด
อาการ
- หลังได้รับเชื้อ 4-10 วันจะมีอาการ ไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง
- บางคนจะมีอาการตาแดง อาจมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือท้องเสีย
- ถ้าไม่ได้รับการรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือ ตา ตัว เหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน
การป้องกัน
- เวลาเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน ให้สวมรองเท้าบู๊ทยางกั้นนำ้ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วให้ล้างเท้าและรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดโดยเร็วที่สุด
- ไม่แช่น้ำหรือย่ำโคลนนานๆ
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกทันที และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด
- ดูแลที่พักอาศัยให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู
- เก็บกวาดและทิ้งขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
ทั้ง 7 โรคที่มากับน้ำท่วมเป็นโรคที่ประชาชนควรระวังเป็นอย่างยิ่ง หรือแม้แต่พื้นที่ที่ยังไม่ประสบภัยก็ควรรู้ไว้ เพื่อจะได้มีความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง และป้องกันไม่ให้เกิดโรค