เฝ้าระวัง โรคระบาดที่ติดต่อได้ในเด็กเล็ก ด้วยภูมิต้านทานอันน้อยนิดที่ยังไม่อาจต่อสู้กับเจ้าเชื้อโรคตัวร้ายที่อยู่รอบตัว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เกิดจากโรคติดเชื้อ และเป็นโรคที่มักจะพบได้บ่อย ๆ หรือระบาดตามฤดูกาล

การติดเชื้อในเด็กเล็กไม่เพียงสร้างความวิตกกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ บางโรคหากดูแลรักษาไม่ทันอาจมีอันตรายถึงชีวิต ในวันนี้เราจะมานำเสนอโรคระบาดที่ติดต่อในเด็กเล็กที่ควรเฝ้าระวัง

RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus

RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ มักจะระบาดในช่วงหน้าฝน

  • อาการ: มีไข้สูง ไอ หายใจครืดคราด มีเสมหะมาก หายใจหอบเหนื่อย
  • อันตรายและความรุนแรง: ปอดอักเสบ ทางเดินหายใจอุดกั้นจากเสมหะ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
  • การป้องกัน: ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อ RSV ในช่วงฤดูกาลระบาด ควรงดพาเด็กเล็กไปที่ผู้คนแออัด ขอความร่วมมือจากคนรอบตัวงดการอุ้ม กอด หอมแก้มลูกน้อย ระวังไม่ให้ถูกละอองฝน

ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อ Influenza

  • อาการ: ไข้สูง ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
  • อันตรายและความรุนแรง: ปอดอักเสบ โรคสมองอักเสบ
  • การป้องกัน: พาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน ล้างมือก่อนจับสัมผัสเด็ก

โรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส ( Enterovirus ) ติดต่อกันโดยการสัมผัสน้ำมูกน้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย

  • อาการ: ไข้ แผลในปาก ตุ่มที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือตามลำตัว
  • อันตรายและความรุนแรง: เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวได้
  • การป้องกัน: ฉีดวัคซีนป้องกันมือเท้าปาก (เอนเทอโรไวรัส 71) ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน-5 ปี
  • คำแนะนำ: หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดของเล่นบ่อยๆ

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อเดงกีที่มีพาหะมาจากยุงลาย

  • อาการ: ไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
  • อันตรายและความรุนแรง: เกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะเลือดออก ช็อค
  • การป้องกัน: ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก แต่ก็มีข้อควรระวัง แนะนำปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน อย่าให้ถูกยุงลายกัด ร่วมกันทำลายแหล่งเพราะพันธุ์ยุง

แม้นบางครั้งผู้ปกครองจะดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อแล้วก็ตาม แต่เชื้อโรคที่มองไม่เห็นคล้ายจะฉวยโอกาสลงมืออยู่ตลอดเวลา หากลูกน้อยมีอาการเจ็บป่วย ควรรีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา