ซีเซียม -137 (Caesium-137) เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ที่สามารถปล่อยรังสีเบตาและรังสีแกมมาได้ จึงถือเป็นสารกัมมันตรังสีเป็นมีอันตราย ซึ่งมีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี (จะสลายตัวในปริมาณที่ลดลงครึ่งนึงในเวลา 30ปี)

ซีเซียม-137 มีการนำมาใช้ในหลายด้าน ตั้งแต่ใช้สำหรับปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสี ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง รวมทั้งใช้ในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความหนาของวัสดุ เช่น กระดาษ หรือแผ่นโลหะ เครื่องวัดการไหลของของเหลว

 

ความอันตรายของ ซีเซียม-137

อันตรายจากการได้รับรังสีจากซีเซียม-137 จะเกิดได้เมื่อได้รับรังสีในปริมาณที่สูงพอ โดยมีหลายกลุ่มอาการที่เกิดได้

  • ระยะแรก จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึ่งจะเกิดตั้งแต่ 1ชั่วโมงถึง 2 วันหลังได้รับรังสี หากปนเปื้อนที่ผิวหนังจะเกิดการอักเสบ แดง มีการหลุดลอกของผมหรือขนจะหลุดล่วง ร่วมกับมีถุงน้ำและแผลอักเสบ
  • ระยะสอง เซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูก และเยื่อบุอาหารตายไปเรื่อยๆ ระยะนี้จะเป็นตั้งแต่ 7วันแรกถึง 40 วันหลังได้รับรังสี แต่ผู้ป่วยอาจจะยังดูปกติ หรือไม่มีอาการ
  • ระยะสาม มีอาการเบื่ออาหาร มีไข้ อ่อนเพลีย จากปริมาณเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกร็ดเลือดทั้งหมด ลดระดับลง และเสียชีวิตในเวลา 2-3เดือน
  • ระยะฟื้นตัว ผู้ป่วยจะหายจากภาวะที่ไขกระดูกโดนกดได้หากไม่ได้รับรังสีมากเกินไป โดยจะดีขึ้นได้ตั้งแต่ 2-3สัปดาห์ขึ้นไป

 

ต้องทำอย่างไรเมื่อมีอาการจากการได้รับรังสีจากซีเซียม-137

หากท่านมีอาการที่สงสัย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวมาก เกินกว่า 2 ครั้ง มีไข้ หนาวสั่น มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่ง ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ จดจำและแจ้งข้อมูลพฤติกรรมที่ผ่านมาใน 1 สัปดาห์เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์วินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น การตรวจการปนเปื้อนของ ซีเซียม-137 ภายในร่างกายทั้งจากเลือด ปัสสาวะ และอุจจาระ

 

การรักษาร่างกายได้รับรังสีจาก ซีเซียม-137

การรักษาภาวะที่ร่างกายได้รับกัมมันตรังสี จะเป็นการรักษาตามอาการที่เกิด เช่น กระตุ้นการทำงานของระบบเลือดเฝ้าสังเกตอาการทางผิวหนัง ป้องกันภาวะติดเชื้อ และการปนเปื้อนของซีเซียม-137 ภายในร่างกาย ปัจจุบันมียาที่ชื่อ Prussian Blue ช่วยจับซีเซียม-137 ลดประมาณของซีเซียม-137 ในระบบทางเดินอาหารลงได้ จากนั้นติดตามความเสี่ยงที่เกิดต่อระบบเลือด ด้วยการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count, CBC) ซึ่งเป็นการตรวจปริมาณและลักษณะของเม็ดเลือดทั้งสามชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด