แม้กระทั่งคนที่รักหมายังต้องหันมามองแมวในมุมใหม่ ผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เมื่อเร็วๆนี้ เผยว่า การเลี้ยงแมวในบ้าน ช่วยให้เด็กที่เกิดใหม่มีภูมิต้านทานโรคภูมิแพ้ได้ดีกว่า ห่างไกลจากโรคติดเชื้อทั้งหลาย และช่วยให้อารมณ์ดี มีความมั่นใจในตัวเองมากกว่าบ้านที่ไม่มีแมว
แมวช่วยให้หัวใจเราแข็งแรง
จากผลวิจัยปี 2008 ของสถาบันโรคหัวใจ มหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐ ที่ทำวิจัยกับกลุ่มคน 4,500 คน เป็นเวลา 10 ปี และ 3 ใน 5 เป็นคนเลี้ยงแมว สรุปผลได้ว่า คนที่เลี้ยงแมวมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเฉียบพลันน้อยกว่าคนที่ไม่เลี้ยงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2009 ยังมีผลวิจัยย่อยๆ ตามมาสนับสนุนด้วยว่า การเลี้ยงแมวช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
แมวน้อยชวนนอนกลางวัน
ธรรมชาติของแมวถ้าไม่กินก็จะนอน การเห็นแมวนอนกลางวันมีผลให้นางทาสทั้งหลายเคลิบเคลิ้ม อยากจะหลับตาลงในทันใดด้วยเช่นเดียวกัน อานิสงส์ของการนอนกลางวัน อันเป็นนิสัยของชาวยุโรปนั้น จะช่วยให้กระปรี้กระเปร่า ความทรงจำดีขึ้น ช่วยให้อารมณ์ดี มีความคิดสร้างสรรค์ และมีเรี่ยวแรงทำงานได้มากขึ้น ถ้าเห็นแมวนอนกลางวันอย่าลืมรีบนอนตามบ้างให้หลับสนิทสัก 20 นาทีเป็นอย่างต่ำ
แมวเป็นตัวอย่างการล้มแล้วลุก
ไม่ว่าแมวจะร่วงตกจากที่สูงกี่ครั้ง แมวก็ยังลุกยืนด้วยลำแข้งอย่างรวดเร็วเสมอ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีมาก จะล้ม (เหลว) สัก กี่ครั้ง ไม่ได้หมายความว่าคุณจะประสบความสำเร็จไม่ได้ จงเลียนแบบแมวเก้าชีวิตที่ล้มก็ได้ ร่วงก็ดี แต่ก็มีแรงลุกขึ้นสู้ใหม่ทุกครั้ง
เสียงร้องเหมียวๆ ช่วยผ่อนคลาย
มีผลการศึกษาที่บอกว่า เสียงร้องเหมียวๆ ของแมวช่วยลดความเครียดให้เจ้าของได้ รวมทั้งช่วยลดความดันโลหิตด้วย เสียงร้องของแมวมีความถี่ตั้งแต่ 20-140 เฮิรตซ์ ซึ่งตรงกับความถี่ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ว่า ช่วยบรรเทาอาการป่วยของหลายๆ โรคด้วยกัน (จากนิตยสาร Scientific American)
แมวอยู่กับปัจจุบัน
แมวสามารถดื่มด่ำความสุขกับการนั่งเฉยๆ อยู่กับที่ที่หนึ่งได้นานๆ โดยไม่ได้หลับ สถานที่โปรดอาจเป็นช่องหน้าต่างที่มันได้นั่งมองความเป็นไปข้างนอกอย่างไม่ไหวติง หรือบนชั้นหนังสือที่มองเห็นทุกอณูของห้องนั่งเล่น ถ้าถามว่าเหมียวน้อยกำลังคิดอะไร หลายๆ คนเชื่อว่า เขากำลังทำสมาธิอยู่
แมวสร้างเสียงหัวเราะ
แมวทั้งน่ารักและตลก หลายๆ ครั้งที่มักทำอะไรโง่ๆ ผิดพลาดขำๆ อย่างที่เรานึกไม่ถึง และอดไม่ได้ที่จะต้องขำมากถึงมากที่สุด มหาวิทยาลัยโลมา ลินดา ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ทำการสำรวจคนที่ชอบดูวิดีโอพฤติกรรมขำๆ ของแมว ช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ต่อมหมวกไตหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียดได้ ทั้งยังช่วยกระตุ้นความทรงจำระยะสั้นได้ดี ขณะที่อีกผลสำรวจหนึ่งบอกว่า การหัวเราะยังช่วยให้ระบบองค์รวมของร่างกายดีขึ้น
แมวสอนให้วางกลยุทธ์
“ถ้าสัตว์พูดได้ หมาคงจะเป็นเพื่อนซี้ที่ช่างเจรจา ขณะที่แมวจะเลือกพูดแต่ประโยคเด็ดเท่านั้น” มาร์ค ทเวน เคยกล่าวเอาไว้ ซึ่งหากดูจากพฤติกรรมการเล่น หมาจะวิ่งไล่ลูกเทนนิสที่กลิ้งอยู่บนพื้นอย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่ว่ามันจะกลิ้งไปตรงไหนก็ตาม ส่วนแมวจะเขี่ยให้กลิ้งไป แล้วจดจ้องตามว่าจะไปเล่นต่อหรือเอายังไงดี ก่อนแมวจะเล่นหรือทำการใดๆ มักจะวางแผนในสมองก่อนเสมอ ซึ่งอาจส่งอิทธิพลสู่นางและนายทาสทั้งหลายได้บ้าง
แมวช่วยคนออทิสติกสื่อสาร
คนกลุ่มนี้มักมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับคนรอบตัว ผลการศึกษาในประเทศฝรั่งเศส ปี 2012 ที่ไปศึกษากับเด็กออทิสติกใน 40 ครอบครัว ออกมาว่า บ้านที่มีสัตว์เลี้ยงช่วยให้เด็กออทิสติกอารมณ์ดีและมีส่วนร่วมกับครอบครัวมากกว่าบ้านที่ไม่เลี้ยงสัตว์ โดยไอริส เกรซ ฮัลม์ชอว์ เด็กอังกฤษวัย 5 ขวบ ได้ตูล่า แมวของเธอช่วยให้มีความมั่นใจในการพูดสื่อสารกับคนอื่นๆ ในครอบครัว ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เธอวาดภาพที่ช่วยเยียวยาอาการออทิสติกของเธอให้ดีขึ้นด้วย
แมวช่วยให้ไม่เครียด
การมีแมวอยู่บนตักช่วยลดความเครียด ความผูกพันกับแมวเพิ่มความสดใสทางอารมณ์ การเลี้ยงสัตว์ช่วยเพิ่มกิจกรรมประจำวัน เพิ่มความรับผิดชอบ ช่วยให้มีสังคม (อย่างน้อยก็กับแมว) สำหรับคนที่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า ลองเลี้ยงแมวจะช่วยได้มาก
แมวรู้ดีว่าอย่าเก็บกด
ถึงแม้ว่าแมวจะดูเป็นสัตว์ที่เงียบๆ แต่ใช่ว่ามันจะเก็บกด ไม่แสดงออกทางอารมณ์ หากแมวเครียดจะแสดงให้รู้ทันที เช่น แกล้งพามันไปส่องกระจกมันจะแว้ดใส่ ข่วนหนึ่งทีแล้วกระโดดหนีไป ผลการศึกษาปี 2012 ของโรงเรียนสาธารณสุขในฮาร์วาร์ด บอกว่า คนที่เก็บกดมักจะเกิดการสะสมของเสียในร่างกาย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและมะเร็ง เพราะฉะนั้นมีอะไรก็ปล่อยๆ ออกมาเหมือนแมวดีกว่านะ
แมวมอบรักที่ปราศจากเงื่อนไข
นอกจากเลี้ยงแมวจะช่วยคลายเหงาแล้ว แมวยังเป็นผู้ฟังที่ดีและขี้อ้อน ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ บอกเหมือนกันว่า สัตว์เลี้ยงช่วยตอบสนองความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ได้ดีเท่าการมีเพื่อนเป็นคนด้วยกันเลย
ที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์