นิ่วในถุงน้ำดี (Gall Stone) เกิดจาก 2 สาหตุหลักคือ สารในน้ำดี โดยเฉพาะคอเลสเตอรอล และ สารให้สีในน้ำดี (Bilirubin) มีปริมาณความเข้มข้นมาก ซึ่งอาจเกิดจากการรับประทานอาหาร  หรือความผิดปกติในการละลายสารเหล่านี้เมื่อสารเหล่านี้มีความเข้มข้นมากขึ้นจึงเกิดการตกผลึกเป็นตะกอนในถุงน้ำดี  เกิดเป็นนิ่วในถุงน้ำดีขึ้น และจากสมรรถภาพของกล้ามเนื้อถุงน้ำดีไม่หดตัว หรือหดตัวได้น้อย ส่งผลให้  น้ำดีถูกกักในถุงน้ำดีทำให้สารต่างๆ ตกตะกอนเป็นก้อนนิ่ว ก้อนนิ่วอาจมี 1 ก้อน หรือมากหลายร้อยก้อน มีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเม็ดทราย หรือขนาดใหญ่เท่าไข่ไก่ได้

ก้อน นิ่วในถุงน้ำดี  สามารถแบ่งเป็น 3 ชนิดหลัก ได้แก่

  1. นิ่วจากคอเลสเตอรอล  (cholesterol stones) เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดของนิ่วในถุงน้ำดี   มีลักษณะเป็นก้อนสีขาว สีเขียว หรือสีเหลือง เกิดจากการตกตะกอนของคอเลสเตอรอล จากการที่ร่างกายมีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในน้ำดี ซึ่งเกิดการพฤติกรรมการกิน  หรือเกิดจากการที่กล้ามเนื้อในถุงน้ำดีหย่อนสมรรถภาพส่งผลให้ไม่สามารถบีบตัวขับคอเลสเตอรอลออกมาได้ ทำให้เกิดการตกตะกอนเป็นก้อนนิ่ว
  2. นิ่วจากเม็ดสี หรือบิลิรูบิน (pigment stones) ก้อนนิ่วชนิดนี้เป็นก้อนนิ่วที่เกิดจากสารบิลิรูบินมีปริมาณความเข้มข้นมาก หรือกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีหย่อนสมรรถภาพส่งผลให้ไม่สามารถบีบตัวขับบิลิรูบินออกมาได้ ทำให้เกิดการตกตะกอนเป็นก้อนนิ่ว   โดยการนิ่วชนิดนี้จะมีขนาดเล็ก แข็งน้อยกว่า และมีสีคล้ำมากกว่านิ่วจากคอเลสเตอรอล  มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง และผู้ป่วยโรคเลือด
  3. นิ่วที่มีส่วนผสมของสารหลายชนิดร่วมกันหรือนิ่วโคลน (Mixed Gallstones) เป็นนิ่วที่เกิดจากการผสมของสารหลายชนิดร่วมกัน  เช่น คอเลสเตอรอล สารบิลิรูบิน และเกลือแคลเซียมชนิดต่างๆ มีลักษณะคล้ายโคลน เหนียวหนืด เกิดจากการติดเชื้อบริเวณตับ ท่อน้ำดี ตับอ่อน สามารถตรวจได้จากการเอกซเรย์  เนื่องจากมีเกลือแคลเซียมร่วมด้วย

อาการเป็นอย่างไร

โดยทั่วไปแล้วนิ่วในถุงน้ำดีอาจไม่แสดงอาการใด ๆ มักตรวจเจอเมื่อมาตรวจสุขภาพหรือพบแพทย์ด้วยปัญหาสุขภาพอื่น ซึ่งนิ่วในถุงน้ำดีส่วนใหญ่มีอาการดังต่อไปนี้  อาจมีครบทุกอาการ หรือบางอาการเท่านั้น

  • ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณช่วงท้องส่วนบนหรือด้านขวา โดยมีระยะเวลาปวดตั้งแต่ 15 นาทีถึงหลายชั่วโมง และอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณกระดูกสะบักหรือบริเวณไหล่ด้านขวา
  • หากมีอาการของถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะทำให้มีไข้ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา  คลื่นไส้ อาเจียน  อาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง และปัสสาวะมีสีเข้มได้
  • อุจจาระมีสีขาว เกิดจากก้อนนิ่วอุดตันบริเวณท่อน้ำดี
  • อาการทางระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย   แสบร้อนที่ยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารมัน

การรักษา

  • การรับประทานยา
  • การผ่าตัดถุงน้ำดี
  • การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง
  • การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้อง
  • การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน ในกรณีที่มีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมด้วย