เอ็นข้อเข่าฉีกขาด ข้อเข่า ประกอบด้วยปลายกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง มาต่อเชื่อมกันโดยมีกระดูกอ่อนอยู่ส่วนปลาย ข้อเข่ามีกระดูกสะบ้าซึ่งมีข้อต่อระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง และมีเยื่อหุ้มอยู่โดยรอบ ภายในข้อมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อ นอกจากนี้ ข้อเข่ายังคงได้รับการเสริมความแข็งแรงด้วยเอ็นที่อยู่นอกข้อ และเอ็นในข้อ อันได้แก่ เอ็นไขว้หน้าและเอ็นไขว้หลัง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นโครงสร้างเสริมความแข็งแรงให้กับข้อเข่าทั้งสิ้น
เส้นเอ็นที่อยู่ในข้อเข่าวางตัวอยู่ทางด้านหน้า มีหน้าที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการบิดหมุนตัวซึ่งต้องใช้เอ็นไขว้หน้าในการควบคุม เอ็นไขว้หน้าจะช่วยล็อกไม่ให้ข้อเข่าทรุด หรือไม่ให้มีอาการไม่มั่นคงในข้อเข่า
เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดได้อย่างไร
- เกิดจากการหมุนข้อเข่าขณะที่เข่ายังเหยียดตรง ทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าถูกกระชาก และเกิดการฉีกขาดได้ ซึ่งส่วนส่วนใหญ่เกิดจากการวิ่งที่ผิดท่า
- การวิ่งซิกแซก การกระแทกของข้อเข่า ซึ่งพบได้บ่อยในนักกีฬาฟุตบอล
- การบิดของเข่าอย่างเร็วและรุนแรง
- การที่เอ็นไขว้หน้าถูกกระชากอย่างรวดเร็ว จากการกระโดดหรือการยกเท้าอย่างรวดเร็ว
- กล้ามเนื้อตึง ไม่ยืดหยุ่น หรือไม่แข็งแรง ทำให้เข่าบาดเจ็บสะสมที่เอ็นไขว้หน้า ซึ่งจะฉีกขาดในภายหลังไม่ฉีกขาดในทันที
- จากอุบัติเหตุทางจราจร
อาการที่บ่งบอกว่าเอ็นข้อเข่าฉีกขาด
- ขณะที่เอ็นไขว้หน้าขาดจะได้ยินเสียงลั่นในเข่า หรือรู้สึกมีอะไรดีดอยู่ข้างในเข่า
- มีอาการเข่าบวม มีเลือดออกในเข่า จนไม่สามารถเคลื่อนไหวเข่าได้ ขยับเข่าลำบาก เจ็บปวด
- ปวดภายในเข่าลึกๆ
- หากเกิดการบาดเจ็บแล้วทิ้งไว้ ไม่ได้รับการรักษา จะมีความรู้สึกเหมือนเข่าหลวม ข้อเข่าไม่มั่นคง หรือเข่าทรุด
รู้ได้อย่างไรว่าเอ็นเข่าฉีกขาด
แพทย์จะวินิจฉัยเอ็นข้อเข่าฉีกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วย ร่วมกับการถ่ายภาพรังสีเอ็กซเรย์ปกติ และ การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
เอ็นข้อเข่าฉีกขาดทำอย่างไร
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเอ็นข้อเข่าฉีกขาดเฉียบพลัน ให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ ประคบเย็น และรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาต่อไป
เนื่องจากเอ็นข้อเข่าที่ฉีกขาดไปแล้วไม่สามารถเชื่อมติดกันใหม่ได้ การรักษาในกรณีเอ็นคู่ไขว้หน้าขาดจึงเป็นการผ่าตัด เพื่อสร้างเส้นเอ็นใหม่มาทดแทน โดยปัจจุบันมีการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยวิธีการส่องกล้อง ซึ่งแผลจะเล็กมาก นอนโรงพยาบาลไม่นาน ลดผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้รวดเร็ว และหากได้รับการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายจากการบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจะสามารถกลับมามีสมรรถภาพทางร่างกายได้เหมือนเดิมอีกครั้ง