แพ้ยาแก้แพ้ เป็นไปได้หรือไม่ วันนี้หมอจะมาอธิบายให้ฟังกัน ก่อนอื่นต้องพูดถึงการแพ้ยาโดยทั่วไปก่อน อาการแพ้ยา เกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไวเกินไปต่อตัวยาชนิดนั้น ๆ จึงแสดงอาการแพ้ที่ไม่พึงประสงค์ออกมา โดยอาการ แพ้ยา มีได้หลายรูปแบบ เช่น เกิดผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง ผื่นลมพิษ ผื่นบวม ปากบวม หน้าบวม รวมถึงอาการแพ้รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งอันตรายอย่างยิ่ง ต้องพบแพทย์โดยด่วน ความรุนแรงของการแพ้ยาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอาจเป็นที่ตัวคนไข้เองหรือขึ้นอยู่กับชนิดของยา
อาการของการแพ้ยาที่พบบ่อยคือ ผื่นลมพิษ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงนูน คัน ไม่มีขุย พบกระจายตามแขน ขา และลำตัวเป็นส่วนใหญ่ มีขนาดไม่แน่นอน ตั้งแต่ 0.5-10 เซนติเมตร โดยผื่นแต่ละจุดมักหายภายใน 24 ชั่วโมง แต่อาจขึ้นใหม่ยังบริเวณอื่นๆได้ และมักเป็นๆหายๆ ย้ายตำแหน่งไปได้เรื่อยๆ ไม่ทิ้งรอยดำหลังผื่นยุบ โดยทั่วไปถ้ามีผื่นลมพิษอย่างเดียวโดยไม่มีอาการทางระบบอื่นร่วมด้วยมักไม่อันตราย ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีตาบวมและหน้าบวมร่วมด้วย ซึ่งเรียกกว่าภาวะแองจีโออีดีมา (Angioedema) และในผู้ป่วยบางราย อาการลมพิษอาจเป็นอาการหนึ่งของภาวะอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ได้ ซึ่งจะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปวดท้องหรือท้องเสียรุนแรง บางรายอาจหมดสติจากความดำโลหิต่ำหรือช็อค ซึ่งเป็นภาวะที่เร่งด่วนต้องรีบพบแพทย์โดยทันที
ยาที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ กลุ่มยาปฏิชีวนะ เช่น Penicillin, Cephalosporin, กลุ่มยาแก้อักเสบ (NSAIDs), กลุ่มยารักษาโรคเกาต์ ชนิดที่พบบ่อยคือ Allopurinol, กลุ่มยากันชัก เช่น Carbamazepine, Phenobarbital นอกจากนี้ยังมียาชนิดอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ กลุ่มยาแก้ปวด กลุ่มยารักษาวัณโรค เป็นต้น
สำหรับยาแก้แพ้ โดยทั่วไปมักใช้รักษาบรรเทาอาการแพ้ไม่ว่าจะเป็นการแพ้ยา หรือ แพ้อาหาร รวมถึงโรคภูมิแพ้ การแพ้ยาแก้แพ้นั้น พบได้น้อยมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ยาแก้แพ้ที่พบว่ามีรายงานว่าแพ้นั้นเช่น hydroxyzine, cetirizine ซึ่งผู้ป่วยก็จะมีอาการแพ้ได้หลากหลาย ส่วนใหญ่มักมีอาการภายใน 1 ชั่วโมงหลังทานยา และเมื่อผู้ป่วยแพ้ยาแก้แพ้ตัวใดตัวหนึ่งมักจะต้องหลีกเลี่ยงการทานยาแก้แพ้ในกลุ่มเดียวกัน ที่มีโครงสร้างของยาคล้ายกัน เนื่องจากมีโอกาสแพ้ข้ามไปยังตัวอื่นได้ เช่น
- แพ้ยา hydroxyzine ควรเลี่ยงการใช้ cetirizine และ levocetirizine
- แพ้ยา bilastine ควรเลี่ยงการใช้ fexofenadine, loratadine, desloratadine
สิ่งที่ทุกคนควรรู้ก่อน คือ การแพ้ยาไม่ได้เกิดเฉพาะกับยาที่ได้รับในครั้งแรกเท่านั้น แม้แต่ยาที่เคยได้รับมาแล้วก็สามารถเกิดอาการแพ้ในครั้งหลังได้ ดังนั้นไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะแพ้ยาชนิดนั้นหรือไม่ นอกจากได้รับยาเข้าไปแล้วเกิดอาการแพ้เท่านั้น ข้อควรระวังต่ออาการแพ้ยา คือสังเกตอาการหลังได้รับยาภายใน 1 ชั่วโมง (ระวังอาการแพ้ยาแบบเฉีบพลัน) และภายใน 2-3 วันหลังรับยา (ระวังอาการแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลัน) หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีผื่นขึ้น เกิดลมพิษ และอื่น ๆ ควรหยุดยาและรีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้อาการแพ้ยาส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยไม่จำเป็นว่าพ่อแม่มีอาการแพ้ยาแล้วลูกจะต้องแพ้ยาชนิดเดียวกัน