โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคเรื้อรังที่มีการอักเสบของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย แต่มีอาการหลักคือการอักเสบของข้อ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามข้อ ข้อที่พบบ่อยคือข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อศอก ข้อไหล่ มักจะปวดทั้ง 2 ข้าง แต่อาการปวดจะเป็นมากสลับน้อย มักไม่มีช่วงที่ไม่มีอาการ หลังได้รับการรักษาอาการดีขึ้นแต่ไม่หายขาด ต้องรับประทานยาควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง
อาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
จะมีอาการปวดข้อดำเนินไปอย่างช้าๆอาจนานเป็นสัปดาห์ถึงเป็นเดือน โดยตัวข้อจะมีอาการปวดบวมแดงร้อน ข้อที่เป็นบ่อยคือ ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้า เข่า คอ
ร่วมกับมีอาการข้อฝืดมักเป็นช่วงกลางดึกและหลังตื่นนอน จะมีอาการฝืดขัด ขยับลำบาก กำมือลำบากมากขึ้น เมื่อไม่ได้ขยับเป็นเวลานาน ปวดข้อมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นของวัน
อาจจะมีอาการปวดเมื่อย/เมื่อยล้าทั่วร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถทำงาน/กิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ
อาการของอวัยวะอื่นอักเสบ เช่น ผิวหนัง ตา ปอด หัวใจ ไต ต่อมน้ำลาย เส้นประสาท ระบบเลือด และอื่นๆ
สาเหตุโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายตัวเองโดยจะทำลายเยื่อหุ้มข้อเป็นหลัก ทำให้ข้อเกิดการอักเสบและบวมขึ้น ต่อมาอาจทำลายกระดูกอ่อน กระดูกข้อต่อ รวมไปถึงเส้นเอ็นที่ยึดระหว่างข้อ ส่งผลให้ข้อผิดรูปและพิการได้
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคแน่ชัด แต่ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงคือ เพศหญิง อายุระหว่าง40-60 ปี การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นรูมาตอยด์ การสูบบุหรี่ การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียอาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคได้
การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
วินิจฉัยจากการซักประวัติและตรวจร่างกายที่เข้าได้กับโรค การตรวจเลือดที่สำคัญ คือ
- Rheumatoid Factor (RF) เป็นแลปที่อยุ่ในเกณฑ์การวินิจฉัย มีความไวสูงแต่เนื่องจากความจำเพาะต่ำ สามารถพบผลบวกได้ใน ผุ้สูงอายุ/โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอักเสบอื่นๆและโรคติดเชื้อ จึงต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการแปลผล
- Anti-CCP มีความไวในการวินิจฉัยพอๆกับ RF แต่มีความจำเพาะสูงกว่า RF
ในผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบเรื้อรัง ถ้าตรวจไม่พบทั้ง RF และ Anti-CCP จะช่วยในการวินิจฉัย seronegative RA, seronegative spondyloarthropathy(SNSA)ได้
การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก่อให้เกิดการอักเสบ ดังนั้นยาที่ใช้จึงเป็นกลุ่มที่มีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันให้ทำงานลดลง โดยมีจุดมุ่งหมายของการรักษาคือ
- ลดความเจ็บปวด
- ลดการอักเสบของข้อ
- ทำให้ข้อมีสภาพใช้งานได้เหมือนปกติ
โดยยาที่ใช้หลักคือยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (Disease Modifying Antirheumatic Drugs;DMARDs) รวมไปถึงยาแก้ปวดกลุ่มNSAIDs ยากลุ่มสเตียรอยด์ และยากลุ่มสารชีวภาพ
ปกติแล้วการรักษาโรครูมาตอยด์จะทำการรักษาตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง แพทย์จะประเมิณผลของการรักษาและดูผลข้างเคียงของยาปรับยาทุก 1-3 เดือน แล้วแต่ความรุนแรงของโรค โดยจะเน้นให้ผุ้ป่วยมาตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าหากขาดนัดไปไม่ได้รับยาจะทำให้มีอาการปวดอักเสบของข้อมากขึ้น ข้อพิการผิดรูปมากขึ้นจนยากที่จะกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติเหมือนดังเดิม
โดย พญ. สริดา เลาหพันธุ์สวัสดิ์
อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม