เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลา ถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทวีปแอฟริกา ที่มาของชื่อ อีโบลา เป็นชื่อแม่น้ำอีโบลา (Ebola River) ที่เป็นแหล่งใกล้เคียงกับที่ค้นพบเชื้อในครั้งแรก

โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา จัดอยู่ในกลุ่มโรคชนิดเดียวกับโรคไข้เลือดออก และจัดเป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยมีแหล่งระบาดในทวีปแอฟริกา

การติดต่อ

จากหลักฐานปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่า เชื้อไวรัสอีโบลาอาจมีค้างคาวกินผลไม้ เป็นแหล่งพาหะนำโรค จากหลักฐานพบค้างคาวกินผลไม้มีแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซาอีร์ในบริเวณเดียวกันกับที่พบ การระบาดในคน ฝูงลิงกอริลลา และชิมแปนซี ได้แสดงถึงการส่งผ่านของเชื้อระหว่างสัตว์

การติดต่อของเชื้อไวรัสอีโบลาสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด เครื่องในของสัตว์ป่าที่ติดเชื้อ หรือจากการชำแหละซาก และเป็นที่ยืนยันว่า เชื้อไวรัสอีโบลามีความสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น สัมผัสเลือด และมีระยะฟักตัว 2-21 วัน

อาการ

ในระยะแรกจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว เบื่ออาหาร ปวดตามตัว ประมาณวันที่ 5-7 อาจมีผื่นแดงตามตัว ไม่คัน บริเวณใบหน้า ลำคอ ลำตัวและแขน และผื่นอาจจางลงและลอกออก ผู้ป่วยอาจมีจุดเลือดออกตามตัว ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน รอยจ้ำเลือดตามตัว หรือมีเลือดออกผิดปกติตามเยื่อบุ หรืออวัยวะต่างๆ ได้ ประมาณวันที่ 8-10 ของอาการเจ็บป่วย ผู้ป่วยบางรายมีอาการทางระบบประสาท เช่น ซึมลง สับสน กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือชัก อาจพบความผิดปกติของอวัยอื่นๆ เช่น ระบบหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระบบทางเดินหายใจ หรือระบบตา เช่น ตาแดงจากเยื่อบุตาอักเสบ ตามัวจากม่านตาอักเสบ เป็นต้น

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียาที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสอีโบลา การรักษาในปัจจุบันคือการรักษาประคับประคองตามอาการและการให้ยาต้านเชื้อโรค รวมทั้งการรักษาและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค

กรมควบคุมโรคแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อไปนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับ มีประวัติสัมผัสโรคในช่วง 21 วันก่อนเริ่มป่วยพบข้อใดข้อหนึ่ง ต่อไปนี้ คือ

  • อาศัยอยู่ หรือ เดินทางมาจากประเทศที่เกิดโรค
  • สัมผัสผู้ป่วยหรือศพของผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวน/สงสัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
  • สัมผัสโดยตรงกับสัตว์จำาพวกค้างคาว หนู ลิง สัตว์ป่าเท้ากีบที่มาจากพื้นที่เกิดโรค

เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค และควรพบแพทย์เมื่อมีความเสี่ยงดังกล่าว หรือมีอาการต้องสงสัยการติดเชื้อไวรัสอีโบลา

พญ. กัญญวิสาข์ ตั้งกิจวณิชย์เจริญ
อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ
โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต