ช่วงนี้ อากาศเปลี่ยนแปลง บ่อย ทั้งหนาว ทั้งร้อน ทั้งฝนตก  เราควรปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพอากาศ ซึ่งอากาศเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นจากอุณหภูมิ ความชื้น หรือสภาพแวดล้อม โดยแต่ละสภาพอากาศก็ส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บที่แตกต่างกันไป

 

สภาพอากาศเย็นหรืออากาศหนาว

  • โรคไข้หวัด
    อาการ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ และหนาวสั่น เป็นต้น โดยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงกว่า อย่างไอแห้ง ตัวร้อนจัด มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • โรคหัด
    พบมากในเด็กเล็กช่วง 1-6 ปี มีไข้สูง จาม หรือตาแดงเกิดผื่นแดงลามไปทั่วตัว ผู้ปกครองควรระมัดระวังเชื้อแพร่กระจาย

 

สภาพอากาศร้อน

  • โรคผดร้อน
  • โรคนี้เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน มีสาเหตุมาจากเหงื่อที่ออกมากเกินไป พบมากในเด็ก มีอาการ คือ ผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย พบมากบริเวณข้อพับแขน รักแร้ ขาหนีบ คอ และหลัง โดยอาจมีอาการคันเกิดขึ้นร่วมด้วย
  • โรคลมแดดและโรคเพลียแดด
    เกิดจากอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้เกิดความร้อนสะสมภายในร่างกาย ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ผิวหนังเปียกชุ่ม ตัวเย็น และขนลุก รู้สึกสับสน พูดไม่ชัด หายใจถี่ ชักเกร็ง ตัวแดง ตัวร้อนจัดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ภาวะขาดน้ำ
    เมื่ออุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เหงื่อออกมากยิ่งขึ้น ภาวะขาดน้ำอาจจะส่งผลให้รู้สึกกระหายน้ำ ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะสีเข้ม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และรู้สึกสับสน
  • โรคท้องร่วงและโรคอาหารเป็นพิษ
    ทั้งสองโรคนี้เป็นผลกระทบทางอ้อมจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งเร่งให้อาหารเน่าเสียเร็วขึ้น ทำให้เกิดโรคท้องร่วงและโรคอาหารเป็นพิษได้
  • โรคพิษสุนัขบ้า
    โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้บ่อยในช่วงที่อากาศร้อนจัด โรคนี้เกิดการติดเชื้อไวรัสผ่านการโดนสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ผู้ที่ถูกกัดจะมีไข้ ปวดตามเนื้อตัว น้ำลายไหล และอาจนำไปสู่การเสียชีวิต

 

สภาพอากาศที่มีฝนตก

  • โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
    เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ไม่ใช่แค่หนูแต่รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างแมวและสุนัขด้วย เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้มักติดต่อสู่คนผ่านทางผิวหนังเมื่อย่ำหรือสัมผัสกับพื้นดิน พื้นถนนที่เปียกแฉะมีน้ำขังซึ่งอาจปะปนไปด้วยปัสสาวะและมูลสัตว์ อาจทำให้มีอาการตาแดง ปวดศีรษะ เป็นไข้ รวมถึงภาวะแทรกซ้อน อย่างไตวาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเสียชีวิต
  • ตาแดง
    ตาแดงเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ส่งผลให้ตาแดง คัน แสบร้อนในดวงตา ตาบวมทั้งด้านในดวงตาและเปลือกตา มีน้ำตาหรือของเหลวไหลออกมา
  • โรคไข้เลือดออก
    มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เชื้อไข้เลือดออกหรือเชื้อเดงกี่มี 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อครั้งแรกอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ไข้เลือดออกนั้นเกิดจากการติดเชื้อครั้งที่สอง หากการติดเชื้อครั้งที่สองไม่ใช่เชื้อเดงกี่สายพันธุ์เดียวกับครั้งแรกอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • โรคไข้มาลาเรีย
    โรคไข้มาลาเรียหรือโรคไข้จับสั่นมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค อาการเหมือนเป็นไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยร่างกาย คลื่นไส้ อาเจียนหรือเบื่ออาหาร หลังจากนั้นจะมีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ อ่อนเพลีย เมื่ออากาศเปลี่ยน การดูแลตนเองจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ซึ่งอาจทำได้ ดังนี้
  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสุกสะอาด
  2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  3. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  4. หมั่นล้างมือเป็นประจำ
  5. เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ รวมถึงการสวมเครื่องป้องกัน อย่างเสื้อกันฝน หน้ากากอนามัย รองเท้ากันน้ำ ถุงมือ หรือแว่นตากันแดด
  6. เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจึงควรได้รับการดูแลอยู่เสมอ
  7. รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคตามสถานพยาบาล

 

    แม้ว่าสภาพอากาศจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่การดูแลตนเองให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ไม่ว่าอากาศจะเปลี่ยนหรือไม่ หากเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือไม่สามารถรักษาด้วยการดูแลตนเองได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง