สาเหตุของโรคบาดทะยัก
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ชื่อ Clostridium tetani ซึ่งอาศัยอยู่ในดิน ในลำไส้และมูลของสิ่งมีชีวิต และพบได้ในสิ่งแวดล้อม เชื้อมีคุณสมบัติในการสร้างสปอร์ (Spore) ที่ทนทานต่อความร้อน เชื้อเจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่ไม่มีออกซิเจน
เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่ลึกและมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ หรือมีเลือดออก เช่น ตะปูตำ เสี้ยนไม้ตำ บาดแผลฉีกขาด บาดแผลที่ปนเปื้อนดิน หรือเศษวัสดุแปลกปลอม นอกจากนี้อาจพบการติดเชื้อในผู้ป่วยที่ทำแท้งโดยกระบวนการที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานทางการแพทย์
เมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าไปในบาดแผลแล้ว จะสร้างสารพิษชื่อ Tetanus toxin สารพิษนี้จะเข้าสู่ระบบประสาท ลามไปตามเส้นประสาท ไขสันหลัง และอาจไปถึงก้านสมองบางส่วน
ระยะฟักตัวของโรค
โรคบาดทะยัก หลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลจะใช้เวลาประมาณ 3-21 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 8 วัน
อาการของโรคบาดทะยัก
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ ปวดตามตัว หลังจากนั้นจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเป็นระยะ ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการคอเกร็ง หลังเกร็ง ขากรรไกรแข็งเกร็ง อ้าปากไม่ได้ กลืนน้ำลายลำบาก บางคนอาจมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เหงื่อออกมากผิดปกติ ความดันโลหิตสูงผิดปกติ เป็นต้น
การเกร็งของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ จะทำให้ผู้ป่วยหายใจเองไม่ได้ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ป่วยบางส่วนที่เสียชีวิตเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ หรือมีอาการระบบประสาทอัตโนมัติที่รุนแรง
ลักษณะของบาดแผลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก (Tetanus-prone wounds) ได้แก่
- บาดแผลที่ต้องได้รับการเย็บหรือผ่าตัดซ่อมแซม ที่มาพบแพทย์ช้ากว่า 6 ชั่วโมง
- บาดแผลที่มีเนื้อตายเป็นจำนวนมาก หรือเป็นแผลที่เป็นรอยเจาะ โดยเฉพาะบาดแผลที่ปนเปื้อนดิน หรือเศษวัสดุแปลกปลอม
- บาดแผลที่พบร่วมกับกระดูกหัก หรือกระดูกหักแบบเปิด (open fracture)
การป้องกันโรคบาดทะยัก
- รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักตามอายุที่กำหนด และฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
- เมื่อมีบาดแผล ผู้ป่วยจะมีความกังวลในเรื่องการเกิดโรคบาดทะยักแทรกซ้อน ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผล หรือเมื่อเกิดบาดแผลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก ควรรีบล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่นานอย่างน้อย 10-15 นาที และรีบมาพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และอาจให้ร่วมกับเซรุ่มต้านพิษบาดทะยัก (Tetanus antitoxin)
พ.ญ. กัญญวิสาข์ ตั้งกิจวณิชย์เจริญ
อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต